|
ขอบคุณ MGR Online (9 ธ.ค. 2020) [3097 Views]
|
ยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นนวัตกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอีกหน่วยงานที่ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง
บิดเปลี่ยนโลก สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า
รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ กฟผ. หรือ EGAT E-Bike เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมสีเขียวที่ กฟผ.พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดย EGAT E-Bike จำนวน 51 คัน ถูกนำร่องไปใช้ในกิจการเพื่อสังคมและกิจการของ กฟผ.ในพื้นที่สำนักงาน เขื่อน โรงไฟฟ้า และศูนย์การเรียนรู้รวม 19 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด บิดเปลี่ยนโลก เพราะเพียงแค่เราปรับจากการใช้รถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแบบเดิมๆ ก็สามารถช่วยเปลี่ยนโลก ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่น โดย EGAT E-Bike ถูกออกแบบให้ขับขี่ได้ง่าย มีความปลอดภัยสูงเพราะความเร็วสูงสุดของ EGAT E-Bike เป็นความเร็วที่เหมาะต่อการวิ่งในเมืองไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มอเตอร์มีขนาด 3 กิโลวัตต์ คิดเป็นระยะทางมากกว่า 95 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และยังมีประสิทธิภาพพลังงานสูงกว่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ถึงร้อยละ 10 อีกทั้งการใช้ไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียงกิโลเมตรละ 13 สตางค์เท่านั้น ในขณะที่รถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถึงกิโลเมตรละ 1 บาท จึงสามารถช่วยลดรายจ่ายได้เป็นอย่างดี
สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ หมดปัญหารอชาร์จไฟ
การชาร์จไฟที่ต้องใช้เวลานานถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สร้างความกังวลต่อผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EGAT E-Bike จึงถูกออกแบบให้รองรับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งผู้ขับขี่สามารถถอดแบตเตอรี่จากตัวรถนำมาสับเปลี่ยนที่สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลารอชาร์จไฟ โดยเบื้องต้น กฟผ.ได้นำร่องจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งหมด 3 แห่ง ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง จ.นครราชสีมา
นำร่องใช้รถมินิบัสไฟฟ้าในองค์กรมากที่สุดของประเทศ
รถมินิบัสไฟฟ้า (EV Bus) จำนวน 11 คัน ถูกนำมาใช้แทนรถมินิบัสที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เพื่อรับส่งพนักงานและประชาชนที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่ กฟผ. ได้แก่ โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี สำนักงานกลาง กฟผ. และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จ.นนทบุรี ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 485 กรัมคาร์บอนต่อกิโลเมตร
เรือโดยสารไฟฟ้า-ยานยนต์รักษ์น้ำ
เรือโดยสารไฟฟ้าฝีมือคนไทยที่ กฟผ.พัฒนาขึ้นเป็นเรือที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน ไม่มีการปล่อยมลพิษ หรือส่งเสียงดังรบกวน โดยขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 214 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือโดยสารไฟฟ้าแบบท้องเดียว (Mono Hull) และเรือโดยสารไฟฟ้าแบบสองท้อง (Catamaran) สามารถแล่นได้ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 10 นอต และรองรับผู้โดยสารได้ลำละ 80 ที่นั่ง นอกจากนี้ ระบบปรับอากาศในห้องโดยสารยังออกแบบให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคาเรือทั้ง 2 ลำด้วย ซึ่งในระยะแรกจะนำไปทดสอบการเดินเรือ เพื่อศึกษาวิจัยและประเมินสมรรถนะของเรือ โดยนำมาใช้ในภารกิจของ กฟผ.ก่อน แล้วจึงจะขยายผลสู่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคประชาชนในอนาคต
ทั้งนี้ ภายในปี 2564 กฟผ.ยังตั้งเป้าขยายผลการใช้ EGAT E-Bike สู่หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอบางกรวย จ.นนทบุรี ภายใต้โครงการ Bangkruai Green Community เพื่อผลักดันต้นแบบของชุมชนที่ร่วมกันใช้พลังงานสีเขียวและมีมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังสอดคล้องกับแนวคิด EGAT for ALL : กฟผ. เพื่อทุกคน รวมถึงเตรียมพัฒนา EGAT E-Bike ในรูปแบบอื่นๆ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลายมากขึ้น การเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจึงถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการเปลี่ยนโลก ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม และเดินหน้าสู่พลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน
|