|
ขอบคุณข้อมูล MGR Online (4 ก.พ. 2020) [4141 Views]
|
ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2562 เป็นที่ทราบกันดีจากรายงานข่าวที่ระบุอัตราการเติบโตถดถอย 3.3% คือ ลดลงจากยอดขายรวม 1,041,739 คัน มาอยู่ที่ 1,007,552 คัน นับเป็นสัญญาณลบที่เริ่มก่อตัวในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 8 เดือนยอดขายรถยนต์เติบโตเป็นบวกมาโดยตลอด เฉพาะในเดือนธันวาคมยอดขายลดลงหนักถึง 21.4% ทั้งที่ปกติทุกปีจะเป็นเดือนที่ขายดีที่สุดของปีด้วย
แม้ว่าบรรยากาศการขายที่อยู่ในโทนติดลบเช่นนี้ แต่ โตโยต้า พี่ใหญ่ของตลาดรถยนต์เมืองไทยกลับสามารถยืนหยัดสร้าง ยอดขายที่เติบโตบรรลุตามเป้าหมายการขายที่วางเอาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง มาดูกันว่า โตโยต้า ทำได้อย่างไร พร้อมกับทิศทาง และเป้าหมายต่างๆ ในปีนี้
ตลาดซบ โตโยต้าบวกสวน
ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของปีนี้ ปัจจัยที่ทำให้ตลาดรถยนต์ไทยหดตัวลงมีอยู่ด้วยกัน 2 ประการหลัก หนึ่งมาจากการ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากปัญหารอบด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศที่กดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ลดต่ำลง ส่วนปัจจัยที่สอง เป็นเรื่องของการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ส่งผลกระทบให้รถยนต์ของหลายค่ายยอดขาย วูบไปตามพอร์ตสินเชื่อ
หันกลับมามองที่โตโยต้า ปิดการขายทั้งปีด้วยยอดขาย 332,380 คันเติบโต 5.5% ทะลุเป้าหมายการขายที่ตั้งไว้เมื่อต้นปี2562 ที่330,000 คันแล้วโตโยต้าทำได้อย่างไรถึงยังคงรักษายอดขายเอาไว้ได้
ทำไมเขาถึงตกแต่โตโยต้าไม่ตก จริงๆแล้วเราทำหลายอย่าง ศึกษาว่าลูกค้าต้องการอะไร เราหาสินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์ลูกค้า ประกอบความรู้ที่เราได้หน้างานแล้วเราเอามาพัฒนา เราปรับปรุงปัญหาของเราจนกระทั่งเราเชื่อมั่นว่าเรา ตอบโจทย์ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ หรือแคมเปญในการให้บริการลูกค้า คำตอบของ นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย ในการตอบคำถามสื่อมวลชนว่า โตโยต้าทำอย่างไรถึงยังคงรักษายอดขายและเติบโตสวนตลาดได้
ส่วนการวิเคราะห์แบบลงลึกจากการเก็บข้อมูลของผู้เขียน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โตโยต้ายังคงรักษายอดขายเอาไว้ได้ เริ่มต้นที่ปัจจัยแรก โตโยต้า มี โตโยต้าลิสซิ่ง หรือเรียกแบบเข้าใจง่ายๆ คือ สถาบันการเงินของตัวเอง ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ที่จะมาเป็นลูกค้าโตโยต้า
โดยโตโยต้า ลีสซิ่งจะปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ของโตโยต้าเป็นหลัก ทำให้การพิจารณาสินเชื่อและเงื่อนไข ทางการเงิน ต่างๆ ทำได้อย่างคล่องตัวกว่าการใช้บริการสถานบันการเงินอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าสามารถผ่อนรถ เป็นรายไตรมาส หรือรายหกเดือน สามารถทำได้หากเลือกใช้บริการโตโยต้าลิสซิ่ง
ประการต่อมา การมีโตโยต้า ชัวร์ หรือแผนกรถมือสอง ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยให้การเปลี่ยนรถใหม่ของคน ที่มีรถอยู่แล้วเป็น เรื่องง่ายขึ้น เพียงขับคันเดิมมาที่ศูนย์ของโตโยต้าจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลพร้อมประเมินราคา รับซื้อรถของลูกค้าได้ทันที สร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้า ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อรถใหม่โดยไม่กังวล
ปัจจัยที่สาม กระตุ้นผลิตภัณฑ์ให้ดูสดใหม่ แม้ปีนี้โตโยต้าจะมีรถใหม่ชูโรงเพียง โคโรลล่า อัลติส ที่พอจะสร้างยอดขาย ได้เป็นกอบเป็นกำ แต่คงไม่มากเหมือนในอดีต สิ่งสำคัญคือ การปรับหน้าตาใหม่ของปิกอัพอย่าง ไฮลักซ์ รีโว่ ที่ดูหล่อขึ้น ทำให้ยอดขายปิกอัพเติบโตแบบมั่นคง รวมถึงการปรับและเสริมรุ่นพิเศษใหม่ให้กับโมเดลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาริส , เอทีฟ , ซีเอช-อาร์และฟอร์จูเนอร์ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความเคลื่อนไหว
ปัจจัยที่สี่ แคมเปญถึงใจลูกค้า การอัดแคมเปญผ่านตัวแทนจำหน่าย ที่ไม่ใช่การประกาศลดราคา แต่เป็นการดึงเอาส่วนต่าง กำไรกลับคืนไปให้แก่ลูกค้าโดยตรง สร้างความรู้สึกให้เหมือนคุณเป็นคนพิเศษ ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลายมา เป็นลูกค้าที่แท้จริงได้
ปัจจัยที่ห้า บริการหลังการขายที่เข้าถึงตัว ลูกค้าที่ออกรถไปแล้วทุกคนจะถูกติดตามผ่านพนักงานบริการหลังการขายส่วนกลาง ดังนั้นปัญหาเรื่องของเซลล์ขายแล้วทิ้งเลยจะได้รับการเยียวยาแก้ไข รวมถึง กรณีที่ตัวรถเกิดปัญหาขึ้น โตโยต้าจะสามารถ เข้าไปถึงตัวลูกค้าได้ทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลามบานปลาย
ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาและทำให้โตโยต้า สามารถรักษายอดขายเอาไว้ได้อย่างน่าประทับใจ ส่วนปีนี้ โตโยต้า หัวเรือใหญ่ยังคงเป็น มิจิโนบุ ซึงาตะ ดังนั้นแนวทางดังกล่าวจะยังคงได้รับการสานต่อไป เพื่อรักษายอดขายให้เป็นไปตาม เป้าหมายที่วางไว้ได้
ย้ำชัด รถใหม่และรถไฟฟ้ามาแน่
โตโยต้า ประกาศชัดเจนว่าปีนี้จะมีรถยนต์รุ่นใหม่เปิดตัวทำตลาดในไทยอย่างแน่นอนและเหมือนเช่นทุกครั้งคือ ยังไม่สามารถ เปิดเผยข้อมูลได้ ส่วนแผนการลงทุนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าประเภท PHEV และ BEV ที่เพิ่งจะได้รับการอนุมัติจาก BOI นั้นจะทำ ตลาดอย่างแน่นอนภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีรุ่นอะไรบ้างนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดและความต้องการ ของผู้บริโภค
ทั้งนี้ หนึ่งในโมเดลที่ได้รับการคาดหมายว่ามีโอกาสขายในไทยค่อนข้างสูง คือ พรีอุส เนื่องจากเป็นโมเดลที่เคยทำตลาด และคนไทยคุ้นเคยอยู่แล้ว ประกอบกับโตโยต้าเองมีโรงงานที่พร้อมขึ้นไลน์ผลิตรุ่นดังกล่าว โดยในต่างประเทศนั้นมีทั้งรุ่นที่เป็น ไฮบริด และรุ่นปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน
บาทแข็งกระทบส่งออก
ปัจจัยลบสำคัญในห้วงเวลานี้คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าสูงมาก ทำให้สัดส่วนของกำไรลดลง ซึ่งผู้บริหารของโตโยต้า เองยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่มั่นใจว่าจะสามารถผ่านไปได้ เพราะในช่วงปี 2540 ที่เกิดวิกฤตค่าเงินบาท ที่เป็นปัญหาใหญ่กว่านี้ โตโยต้ายังสามารถผ่านมาได้ ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล แต่ประการใด
สำหรับ ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือโอเชียเนีย (กลุ่มประเทศในทวีปออสเตรเลีย), อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ส่วนตลาดตะวันออกกลาง ยังคงได้รับผลกระทบ จากสงครามที่ยังไม่ยุติ ทั้งนี้ประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญของโตโยต้า ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวล ว่าโตโยต้าจะย้ายฐานการผลิตหนีไปที่อื่น
ฟันธงปีนี้ตลาดลงต่อเนื่อง
สำหรับการคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2563 ยอดขายรวม 940,000 คัน ลดลง 6.7% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 358,500 คัน ลดลง 10% และรถเพื่อการพาณิชย์ 581,500 คัน ลดลง 4.5% ส่วนเฉพาะของโตโยต้าตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 310,000 คัน ลดลง 6.7%แบ่งแบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 103,000 คัน ลดลง 12.5% และรถเพื่อการพานิชย์ 207,000 คัน ลดลง 3.6% ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 33.0% เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
ด้านการส่งออกในปี 2562 โตโยต้าส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 264,775 คันลดลง 10 % ทั้งนี้ปริมาณการผลิตสำหรับการขายภายในประเทศ และการส่งออก มีจำนวนทั้งสิ้น 570,850 คัน ลดลง 3% สืบเนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายภูมิภาค แต่สำหรับปีนี้โตโยต้าคาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออก จะอยู่ที่ 263,000 คัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1 % อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศคู่ค้ายังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้แผนการผลิตสำหรับ การขายภายในประเทศและการส่งออกจะอยู่ที่ 556,000 คัน ลดลง 3 %
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปในรอบศตวรรษโดยโตโยต้ามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรจากเดิมที่เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สู่การเป็น องค์กรแห่งการขับเคลื่อน (Mobility Company) ซึ่งหมายความว่าเราจะมุ่งเดินหน้าพัฒนาการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคมได้อย่างประสิทธิภาพ มิจิโนบุ ซึงาตะ กล่าวตบท้าย
|