|
ขอบคุณ ประชาชาติธุรกิจ (2 มิ.ย. 2020) [3973 Views]
|
ธุรกิจเกษตรไทยต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภาพต่ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพ อากาศ และภัยคุกคามทางธรรมชาติ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งนำ เทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จากเดิมที่ใช้เพียง องค์ความรู้และประสบการณ์เดิม (know how)
ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีเกษตร (agritech : agricultural technology) ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยี IOT ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคต และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
หลายท่านคงตั้งคำถามว่าแล้วเทคโนโลยี IOT จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเกษตรได้อย่างไร ? แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ผู้อ่านคงต้องเข้าใจก่อนว่า IOT สำหรับธุรกิจเกษตรทำงานอย่างไร ?
IOT สำหรับธุรกิจเกษตรเริ่มต้นจากการใช้เทคโนโลยี เซ็นเซอร์ ติดตามและตรวจสอบสถานะข้อมูลที่จำเป็นในการเพาะปลูก แบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยผู้ประกอบการใน การตัดสินใจและการบริหารจัดการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความเข้มของแสง อุณหภูมิ ความชื้นในดิน สภาพอากาศ เป็นต้น
โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกเชื่อมโยงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ก่อนนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และประมวลผลในระบบคลาวด์ แล้วส่งกลับไปยังผู้ใช้งาน ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่จะนำมาใช้พัฒนา ร่วมกับเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence : AI) ที่จะทำหน้าที่คิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจในกระบวนการเพาะปลูก แทนมนุษย์มากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรใช้เทคโนโลยี IOT แล้ว เช่น บริษัทมิตรผลที่ประสบความสำเร็จในการนำ IOT มาใช้ในการสํารวจระยะไกลผ่านดาวเทียม และใช้ข้อมูลพยากรณ์อากาศแบบเจาะจงพื้นที่ เพื่อช่วยประเมินข้อมูลความชื้นของดิน ภาวะการขาดน้ำและอาหาร ความเสี่ยงของโรคและศัตรูพืช ที่ส่งผลต่อการเติบโตของอ้อย และคาดการณ์ปริมาณผลผลิตและ ดัชนีคุณภาพ ความหวานของอ้อย รวมทั้งใช้เทคโนโลยีคาดการณ์สภาพอากาศมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผลผลิตอ้อยสูงขึ้นเฉลี่ยจาก 7-8 ตันต่อไร่ เป็น 10-15 ตันต่อไร่
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่บางรายเรายังอาจไม่คุ้นชื่อมากนัก เช่น วราภรณ์ฟาร์ม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ ฟาร์มโคนมรุ่นใหม่ ที่มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงวัว ทำให้สามารถบริหารจัดการเวลาในช่วง ที่ต้องจับสัด (รอบในการผสมพันธุ์) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถแจ้งเตือนโรคต่าง ๆ ที่เกิดในวัวก่อนจะแสดง อาการ ทำให้สามารถดูแลรักษาอาการต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้อัตราการสูญเสียต่ำลง และสามารถประหยัด ค่ายารักษาสัตว์ได้มากถึง 50%
หรือไร่กำนันจุลที่พัฒนาโรงเรือนปลูกเมล่อน โดยปรับลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ต่ำลงได้ 4-8 องศาเซลเซียส พร้อมเชื่อมต่อระบบเซ็นเซอร์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นในการเพาะปลูก รวมทั้งมีการปลูกผักในระบบแปลงเปิดที่สามารถ วัดความชื้นในดินและระบบให้น้ำซึ่งควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน
กลับมาคำถามที่ว่า เทคโนโลยี IOT จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเกษตรได้อย่างไร ? ประการแรก เทคโนโลยี IOT จะเปลี่ยนรูปโฉมธุรกิจเกษตรไทยให้เป็นในลักษณะ decentralized ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึง ข้อมูลที่ใช้ในการบริหารจัดการผลิตได้ด้วยตนเอง ด้วยฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ และเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ผลิตจริง ทำให้การบริหารจัดการผลิตไม่ยากดังเช่นแต่ก่อน ส่งผลให้การใช้ปัจจัยการผลิต (input) มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (young farmer) ประสบความสำเร็จในธุรกิจเกษตรได้ง่ายขึ้น
ประการที่สอง ช่วยลดความเสียหายของผลผลิตจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่มีความถี่มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกโดยรวมมีความแปรปรวน และส่งผลกระทบมากขึ้นเป็นลำดับ สะท้อนจากดัชนีชี้วัดปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) และลานิญา (La Nina) หรือ Oceanic Nino Index (ONI) ซึ่งคำนวณจากค่าอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเล (SST) ที่เปลี่ยนไปจากค่าอุณหภูมิปกติ อีกทั้งยังพบว่าการเกิด ปรากฏการณ์เอลนิโญรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นในระหว่างปี 2010-2019 เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้า
บริษัทที่มีการนำเทคโนโลยี IOT ในกลุ่ม soil sensors มาช่วยลดความเสี่ยงจาก climate change คือ รัฐบาลท้องถิ่นเมือง Oregon ที่สนับสนุนให้ชาวสวนฟาร์มบลูเบอรี่นำอุปกรณ์ HydraProbe มาใช้เพื่อวัดความชื้นในดินในแต่ละระดับความลึก เนื่องจากพืชสวนอย่างบลูเบอรี่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการขาดน้ำอย่างมาก
โดย HydraProbe จะประเมินการใช้น้ำและการใส่ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำให้สอดคล้องกับช่วงการดูดซับอาหารของรากพืช และยังช่วยลดการใช้สารกำจัดเชื้อราที่มักทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงยังมีฟังก์ชั่นแจ้งเตือนในช่วงที่สภาพ อากาศร้อนจัดและหนาวจัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากขึ้น
ประการที่สาม เทคโนโลยี IOT จะเป็นผู้ช่วยสำหรับธุรกิจเกษตรในการรับมือความท้าทายของผู้ประกอบการในยุคสินค้าออร์แกนิก (สินค้าที่ไม่ใช้สารพิษ ยาฆ่าแมลง และสารเคมี) แต่ยังคงคุณภาพของผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ดีเท่าเดิม โดยจากการสำรวจของ Organic Trade Association ของสหรัฐ พบว่า ยอดขายสินค้าออร์แกนิกในสหรัฐปี 2018 เพิ่มขึ้นถึง 6.3% ทำสถิติสูงสุดที่ยอดขายแตะระดับ 5.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่สินค้าออร์แกนิกที่เป็นอาหาร (organic food markets) เติบโตถึง 5.9% นอกจากนี้ ยอดขายผักและผลไม้ออร์แกนิกซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้าออร์แกนิกที่เป็นอาหารหรือประมาณ 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์ ยังเติบโตถึง 5.6% ในปี 2018 เมื่อเทียบกับยอดขายผักและผลไม้ทั่วไปที่เติบโตเพียง 1.7%
ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับถึงความโดดเด่นในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเกษตร ก็มีการนำเทคโนโลยี IOT มาใช้ในโรงงานผลิตพืชออร์แกนิก ได้แก่ บริษัท 808 Factory ผู้ผลิตผักสลัดสดพร้อมทานที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ภายใต้โรงงานระบบปิดที่ควบคุมด้วยเทคโนโลยี IOT ทำให้สามารถตั้งราคาขายได้สูงกว่าท้องตลาด 2-3 เท่า โดยเป็นโรงงานผลิตพืชซึ่งใช้เซ็นเซอร์เพื่อควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่น แสงสว่าง ระบบน้ำ สภาพอากาศ และการให้ปุ๋ย เพื่อคงมาตรฐานทั้งในแง่ของคุณภาพ สี ขนาด และรสชาติ
ทั้งยังปราศจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง หรือผู้ประกอบการไทยอย่างบริษัท ริมปิง ออร์แกนิค ฟาร์ม (เชียงใหม่) ผู้นำด้านฟาร์ม เกษตรอินทรีย์ 100% ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่นำเทคโนโลยี smart irrigation และเซ็นเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดคุณภาพ พืชสามารถให้ผลผลิตพืชผักปลอดสารเคมีให้ผู้บริโภคได้ถึงปีละ 100 ตัน และช่วยลดต้นทุนได้ถึง 30-40%
ประการที่สี่ ความกังวลโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะเป็นแรงผลักดันให้ภาคเกษตรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ IOT มาทดแทนการใช้แรงงานคน เพื่อลดโอกาสการสัมผัส และการติดต่อกันระหว่างมนุษย์ โดยบริษัทผู้ผลิตโดรน XAG ในเมืองกว่างโจวของจีน ได้ออกมาเปิดเผยว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2020 บริษัทสามารถขายโดรนทางการเกษตรได้มากถึง 4,000 เครื่อง เช่นเดียวกับบริษัท Yifei Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโดรนและหุ่นยนต์เกษตรที่คาดว่า ปีนี้รายได้จะเติบโตเป็น 4 เท่าหรือมากกว่า 4.31 ล้านดอลลาร์ จากผลของโควิด-19
นอกจากนี้ ตลาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทางการเกษตรในจีนที่เติบโตไปอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุน จากทางการจีนที่ให้เงินสนับสนุนจากส่วนกลางในการซื้อโดรนและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยจีนตั้งเป้าให้เกษตรกรสามารถใช้โดรน ได้อย่างแพร่หลายถึง 30,000 เครื่องในปี 2020
ท้ายที่สุด IOT เป็นเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรสามารถประยุกต์ใช้ได้ไม่ยาก เพียงผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจ ก่อนว่า ข้อมูลอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้
นอกจากนี้ การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อทำ R&D จะเป็น quick win ที่ทำให้ผู้ประกอบการประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องเข้าใจด้วยว่าเทคโนโลยี IOT ไม่ใช่ solution แบบ one-size-fits-all แต่เป็นการใช้เทคโนโลยี ทางการเกษตรที่มีความเฉพาะเจาะจง (customization) ซึ่งต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุน รวมทั้งรูปแบบของ เทคโนโลยีให้เหมาะกับสินค้าเกษตรแต่ละประเภทด้วย
|