|
ขอบคุณเนื้อหา ฐานเศรษฐกิจ (27 มี.ค 2020) [4229 Views]
|
นวัตกรรมใหม่ ลดใช้สารเคมี
พืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดต้องการการดูแลที่แตกต่างกันทั้งการให้นํ้า ให้ปุ๋ย ให้ฮอร์โมน กำจัดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืชได้ในเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ ลดความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการทำลายผลผลิต ไม่ว่ามาจากสภาพอากาศ สภาพดิน โรคพืชและแมลง ขณะเดียวกันก็ต้องประหยัดต้นทุนโดยเฉพาะแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันค่าจ้างแรงงานมีราคาสูงและหายาก ดังนั้น ภาคเกษตรของไทยจึงเริ่มมีความต้องการเครื่องจักรกลที่มีความฉลาด ทำงานได้ตลอดเวลา แต่ต้องประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง จึงเป็นที่มาไทยต้องมีหุ่นยนต์สำหรับงานอารักขาพืชมาทำหน้าที่แทนคน
นายปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนิสิต ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า หุ่นยนต์อารักขาพืช ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังทำวิจัยอยู่เวลานี้มี 2 แบบ คือ แบบเคลื่อนที่แบบ mobile robot ผ่านระบบ remote control ควบคุมจากระยะไกล กับแบบเคลื่อนที่วิ่งบนรางที่เป็นแบบสลิง (Cable)
นอกจากนี้ยังสามารถนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม มาปรับใช้เพื่อลดขนาดพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งสามารถกระจายเข้า สู่ชุมชนได้ทุกพื้นที่โดยไม่มีข้อจำกัด ช่วยลดค่าขนส่ง รักษาคุณภาพของผลผลิตให้มีความสดใหม่ ลดปัญหาแรงงานและความเสียหายของผลผลิต ขณะเดียวกันยังมีการจัดเก็บข้อมูลกายภาพของพืช และข้อมูลผู้บริโภคในรูปแบบบิ๊กดาต้า เพื่อนำมาพัฒนาการปลูกโดยการใช้ข้อมูลที่จัดเก็บที่เที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้นด้วย
เริ่มธุรกิจจากโจทย์วิจัย
ในฉบับนี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะหุ่นยนต์อารักขาพืช แบบ mobile robot ซึ่งสามารถทำหน้าที่ตัดหญ้าได้ทุกระยะความสูง และแบบพรวนหญ้าทิ้ง โดยหัวตัดหญ้า สามารถทำงานได้พร้อมกัน 2 หัวตัด ซึ่งจะเร็วกว่ารถตัดหญ้าอื่นๆ ที่มีแค่หัวตัดเดียวได้ถึง 2 เท่า สามารถเปลี่ยนใบมีดและปรับระดับความสูงตํ่าของการตัดหญ้าได้ว่าจะให้เหลือหญ้าไว้กี่เซนติเมตร ขณะเดียวกันก็มีแขนกลฉีดพ่นสาร 2 แขน กางทำมุมได้หลากหลาย ใช้ได้ทั้งไม้ผลทรงพุ่ม หรือ พืชไร่ พืชผักที่มีความสูงและขนาดที่แตกต่างกัน และสามารถทำภารกิจในการตัดหญ้าและฉีดพ่นไปพร้อมๆ กันได้ โดยสามารถสั่งงานฉีดพ่นแบบต่อเนื่อง หรือแบบไม่ต่อเนื่อง (เฉพาะจุด) ได้
นอกจากนี้ตัวหุ่นยนต์ สามารถปรับระยะคร่อมร่องพืช โดยการเปลี่ยนแกนเหล็กของเพลาหุ่นยนต์ให้มีความกว้างยาว เพื่อรองรับพืชแต่ละชนิดที่มีระยะปลูกที่แตกต่างกันได้ เช่น อ้อย มันสำปะหลังและอื่นๆ ได้ โดยการควบคุมหุ่นยนต์สามารถ ควบคุมผ่าน remote control และแบบควบคุมจาก smart phone และสามารถติดตั้งกล้องในหุ่นยนต์ถ่ายทอดสดได้
หุ่นยนต์ตัวนี้ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน แต่กรณีหัวตัดหญ้าใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ โดยมีถังนํ้ามันขนาดบรรจุ 270 ซีซี (ประมาณ 1 ใน 4 ของลิตร เปลี่ยนขนาดของถังนํ้ามันได้) ซึ่งจะได้กำลังสูงกว่าในการตัดหญ้าหรือพรวนหญ้า โดยเครื่องยนต์สามารถปั่นไฟเพื่อชาร์จใส่แบตเตอรี่ได้
กรณีหุ่นยนต์ติดหล่ม ตัวแขนที่ยึดกับหัวตัดหญ้าทั้ง 2 ข้าง สามารถยกขึ้น-ลง ได้อิสระ จะผลักดันตัวเองให้ขึ้นจากหล่มได้
หุ่นยนต์อารักขาพืชนี้ สามารถนำมาใช้เพื่อลดการใช้สารเคมีตามนโยบายของรัฐบาล เบื้องต้นหุ่นยนต์ต้นแบบที่เราคิดค้น ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาทต่อตัว ซึ่งได้มีการเปิดตัวไปแล้ว และยินดีถ่ายทอดนวัตกรรมนี้ให้ฟรีกับสถาบันการศึกษา เช่นให้กับสถาบันอาชีวศึกษาในท้องถิ่นเพื่อทำการผลิต แต่หากเขาเอาไปผลิตเชิงพาณิชย์ทำเป็นแบบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์บ้าง เพราะเราได้ไปจดสิทธิบัตรไว้แล้ว ขณะที่หากมีผู้ประกอบการทั่วไปจะนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ก็ต้อง มีค่าลิขสิทธิ์ เวลานี้มีหลายรายที่สนใจจะนำไปต่อยอด
|