|
ขอบคุณเนื้อหา ประชาชาติธุรกิจ (15 พ.ค. 2020) [2196 Views]
|
ยังเป็นคำถามที่กำลังรอคำตอบว่า ไวรัสโควิด-19 ทำลายอุตสาหกรรมยานยนต์ไปขนาดไหน ? และชีวิตวิถีใหม่ในอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้อย่างน่าสนใจ โดยเชื่อว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่ออุตฯรถยนต์ไทยสู่จุดต่ำสุดในรอบ 9 ปี และยังจะนำไปสู่การปรับห่วงโซ่อุปทานและกระบวนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใหม่ในไทย
โดยปริมาณการผลิตที่อาจหดตัวสูงถึง 25% ลดลงไปแตะตัวเลข 1.52 ล้านคัน จากที่เคยผลิตปีละราว ๆ 2 ล้านคัน นำโดยการส่งออกที่อาจหดตัวสูงถึงกว่า 29% ด้วยตัวเลขส่งออกที่ลดลงเหลือเพียง 750,000 คัน
ขณะที่ตลาดในประเทศก็เผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจทำให้อาจหดตัวไปถึง 21% ด้วยยอดขาย 800,000 คัน ส่วนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์สู่ภาวะปกติอีกครั้งคาดว่าอาจเป็นช่วงกลางปี 2564 ถึงหรือต้นปี 2565
ขณะที่ค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนมีโอกาสที่จะเลือกดำเนินนโยบายกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งการลดระดับระบบ การผลิตแบบ just in time รวมถึงการโยกฐานการผลิตออกสู่ประเทศที่เป็นฐานผลิตระดับยุทธศาสตร์ของภูมิภาค ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสจะดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้
หากมีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศใช้ระบบอัตโนมัติ ในกระบวนการผลิต มากขึ้นย้อนกลับไปช่วงที่เกิดการชัตดาวน์การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในจีน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนไปทั่ว ซึ่งในไทยเองแม้ว่าจะไม่ได้พึ่งพิง ชิ้นส่วนจากจีนมากนักเนื่องจากกว่า 80-90% ของชิ้นส่วนที่ต้องใช้ประกอบรถยนต์ 1 คันนั้นสามารถผลิตได้เองในประเทศ
แต่ถึงอย่างนั้น ชิ้นส่วนบางประเภทที่ต้องนำเข้าจากจีน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางรายการ เช่น เซ็นเซอร์ระดับสูง และ ECU เป็นต้น ที่ไม่สามารถส่งออก มาจากจีนได้ ก็ทำให้ต้องสลับไปหาชิ้นส่วนดังกล่าวจากประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นแทน ซึ่งลักษณะการพึ่งพิงฐานการผลิตเดียวที่มากเกินไป จนเกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าว น่าจะเป็นสิ่งที่ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วน อาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต
ด้วยการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทาน โดยอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การผ่อนคลาย ระบบการผลิตแบบ just in time ลง เพื่อให้สามารถมีสต๊อกวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เตรียมไว้ผลิต รวมถึงการวางแผนงาน ในลักษณะที่ยืดหยุ่นขึ้น และมีการหาแหล่งวัตถุดิบหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนสำรอง ในอนาคตเผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย
อีกอย่างคือการใช้แพลตฟอร์มร่วม ในแต่ละรุ่นรถยนต์และชิ้นส่วนทั้งภายในค่ายเดียวกันเองกับระหว่างค่าย ซึ่งคาดว่าจะถูกเร่งให้นำมาใช้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
หลังปัจจุบันค่ายรถยนต์รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนบางราย โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ได้เริ่มทำมาบ้างแล้วในช่วงก่อนหน้า เพื่อทำให้เกิดอีโคโนมีออฟสเกล
นอกจากนี้จะมีการรวบงานบางประเภทใน tier ระดับต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในกลุ่มบริษัทเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะเข้ามาอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันกับผู้ผลิตชิ้นส่วนเทียร์ 1 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตสั้นลง
อีกหนึ่งผลกระทบมิอาจมองข้าม วิถีชีวิตใหม่ ซึ่ง social distancing จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นตรงนี้จะมีผลให้กระบวนการผลิต รถยนต์และชิ้นส่วนไทยปรับมาใช้ระบบออโตเมชั่นเพิ่มขึ้น
โรงงานประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนมีแนวโน้มที่จะพิจารณาจัดสภาพการทำงานของพนักงานในอนาคตให้สอดคล้องตาม เช่น การจัดช่วงห่างในพื้นที่ทำงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติรูปแบบต่าง ๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตอย่างเข้มข้นมากขึ้น
ซึ่งแม้ในระยะสั้นจะมีต้นทุนเพิ่ม แต่ในระยะยาวจะทำให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการต้นทุนและคุณภาพสินค้าได้ดีขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงจากปัญหาต่าง ๆ
โดยสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ในปัจจุบันแม้จะทำให้เกิดการชะงักงัน ครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย
แต่ในอีกทางหนึ่งอาจเป็นโอกาสให้กับไทยได้หากมีการเตรียมพร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนอย่างเหมาะสมในอนาคต
โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อนักลงทุนผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติหลายรายทั้งจากจีนและชาติอื่น ๆต่างเล็งเห็นถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคตที่มากขึ้น
โดยการกระจายความเสี่ยงออกจากฐานการผลิตเดียว เช่น จีน ไปยังฐานการผลิตอื่นที่เป็นศูนย์กลางการผลิตในระดับยุทธศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค
|