|
ขอบคุณ MGR Online (13 เม.ย. 2021) [3222 Views]
|
ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2563 การขยับตัวของบริษัทรถยนต์ในเรื่องของการแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนบน
ความยั่งยืน อย่างการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้า จะมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น และมีออกมาให้เห็นอย่างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเปรียบเทียบ เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นเหมือนกับสื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ ก็คือ หลายแบรนด์เริ่มไม่อยากที่จะลงทุนกับ เทคโนโลยีที่ (ดูเหมือนว่าจะ) ไม่มีอนาคตอีกต่อไป และพร้อมที่จะเอาทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่ไปทุ่มเทให้กับการพัฒนา ความหวังใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้าจะดีกว่า
นับจาก เอ็มจี ได้ถอดปลั๊กและเลิกผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของตัวเองอย่าง EV1 เมื่อปี 2546 ดูเหมือนว่าโอกาส แจ้งเกิดของรถยนต์ไฟฟ้าแทบจะดับลงไปอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะมีการก่อกำเนิดแบรนด์ Tesla ในปี 2549 ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นแค่ ของเล่น เศรษฐีมากกว่าการแสดงตัวเป็นรถยนต์สำหรับคนทั่วไป
จนกระทั่งการเข้ามาของวิกฤตน้ำมันในช่วงปี 2551 และทำให้ราคาน้ำมันดิบขยับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องชนิดที่ทำ New Height แทบจะทุกวัน หลายฝ่ายเริ่มหันมามองเรื่องของพลังงานที่มีความยั่งยืน และรถยนต์ไฟฟ้าถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้ผู้ที่ (กล้า) จะเปิดเกมก่อนกลับเป็นนิสสันเมื่อพวกเขาเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์รุ่นแรกออกมาในปี 2542 ภายใต้ชื่อ ลีฟ (LEAF)
นับจากนั้น ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง และยิ่งมีมากขึ้นเรื่องๆ เมื่อมีเรื่องของความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และการใส่ใจในเรื่องของการมลพิษในอากาศตามความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่มีขึ้นในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2558 ซึ่งทางออกในการปฏิบัติตามตกลงคือ การลดมลพิษจากรถยนต์ให้เหลือศูนย์ ซึ่งนั่นถือเป็นการเปิดศักราชกลายๆ ให้กับรถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อก่อนเราเข้าใจกันว่าปัจจัยหลักที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ค่อยได้รับความนิยมนั้นมาจากเทคโนโลยีของตัวรถยังไม่สัมพันธ์กับการทำให้เทคโนโลยีมีราคาที่จับต้องได้ เช่นเดียวกับความกลัวในการเปลี่ยนแปลงของนักขับและระบบสาธารณูปโภคที่จะรองรับกับการใช้งาน แต่ ณ ตอนนี้มีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทั้ง 3 เรื่องไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป ตลาดรถยนต์มีแต่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นรถยนต์แห่งความหวังที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
เมื่อแบรนด์รถยนต์กำลังละทิ้งโลก I.C.E.
เทรนด์และแนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้ากำลังดีขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีใช้งานง่ายขึ้นและสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนทั่วไป ได้จนแตกต่างจากการใช ้งานรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเพียงเล็กน้อย และที่สำคัญคือ ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงกว่าจากที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ เรียกว่าได้ว่า สมรรถนะดีขึ้น (แล่นได้ไกลขึ้น ชาร์จใช้เวลาน้อยลง) และมีราคาที่จับต้องได้ เรียกว่าช่วงราคาของรถยนต์ไฟฟ้ามีให้เลือกตั้งแต่รถยนต์ราคาประหยัด ไปจนถึงรถยนต์ราคาแพงระดับหรูหรา
แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ การกำหนดข้อบังคับของภาครัฐที่มีส่วนอย่างมากในการ บีบ ให้แบรนด์รถยนต์ต้องเดินตาม โดยเฉพาะในยุโรป ที่มีการประกาศ ออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า บริษัทรถยนต์จะต้องลดการปล่อยค่าเฉลี่ยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์ที่ขายอยู่ในตลาดจากเดิมอยู่ที่ 95 กรัมต่อ 1 กิโลเมตร ให้เหลือ 59 กรัมต่อ 1 กิโลเมตรภายในปี 2573 ซึ่งนั่นหมายความว่าแบรนด์ไหนก็ตามที่อยากจะขายรถยนต์ในภูมิภาคนี้ จะต้องเพิ่มทางเลือกรถยนต์ไฮบริด PHEV หรือไม่ก็ BEV ออกสู่ตลาดให้มากขึ้น และลดปริมาณการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในลง
ตรงนี้ก่อให้เกิดการปรับทิศทางและกลยุทธ์ของแบรนด์รถยนต์อย่างชัดเจน เพราะหลายแบรนด์เริ่มประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนแล้วว่าจะยุติบทบาทในการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายใน และภายในช่วงปี 2573พวกเขาจะเป็นบริษัทรถยนต์ที่ผลิตเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ในช่วงที่รอการเปลี่ยนผ่านนั้น ทุกแบรนด์ก็ยังผลิตทั้งรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในขายเคียงคู่กับรถยนต์ไฟฟ้าไปก่อน จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม
อย่าง 3 สหายในตลาดรถยนต์หรูของเยอรมนีก็มีแผนการที่ชัดเจนเพราะแต่ละค่ายต่างเปิดตัวซับแบรนด์ออกมา เช่น อาวดี้ คือ e-tron เมอร์เซเดส-เบนซ์ คือ EQ และ บีเอ็มดับเบิลยู คือ i รวมถึงแบรนด์ในเครืออย่าง มินิ ก็มีการเปิดตัวรุ่น SE ซึ่ง ณ ตอนนี้ซับแบรนด์เหล่านี้ต่างมีผลผลิตใหม่ๆ ของตัวเองออกมาขายอย่างต่อเนื่อง โดยทาง Daimler AG ที่เป็นบริษัทแม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศชัดเจนเมื่อปีที่แล้วว่าพวกเขาจะยุติการลงทุนใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน และไปโฟกัสอยู่กับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแทน
วอลโว่ คือ รายล่าสุดที่แถลงออกมาเช่นนี้พร้อมกับการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV รุ่นแรกของตัวเองออกมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านนั้น บริษัทรถยนต์จะทำอย่างไรกับไลน์ผลิตของพวกเขา เพราะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในกับรถยนต์ อีวี มีทั้งชิ้นส่วนและพื้นฐานทางวิศวกรรมที่แตกต่างกันค่อนข้างเยอะ การลงทุนเพื่อพัฒนาแพล็ตฟอร์มขึ้นมาใหม่สำหรับรองรับรถยนต์ อีวี สักคันต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่บางรายอย่างเช่น บีเอ็มดับเบิลยู กำลังหาทางออกให้รถยนต์ทั้ง 2 แบบนี้อยู่ร่วมกันบนไลน์ผลิตของโรงงานเดียวกันให้ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าไลน์ผลิตแห่งนั้นจะต้องมีความยืดหยุ่นมากในระดับหนึ่งเลยทีเดียว และ บีเอ็มดับเบิลยู เชื่อว่าจะทำได้
แม้จะดูเป็นเรื่องยาก แต่ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำในช่วงที่โลกยานยนต์กำลังจะต้องเปลี่ยนผ่านในแบบที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติการเดินทางของรถยนต์ส่วนตัวในรอบ 100 กว่าปีเลยทีเดียว
เสียงตอบรับจากฝั่งญี่ปุ่น
ต้องยอมรับว่าการฝืนกระแสเป็นเรื่องที่ยาก แต่จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมักจะเป็นผู้นำในเรื่องของระบบการขับเคลื่อนแบบใหม่มาตลอด ทั้งไฮบริด (Toyota-2540) Fuel Cell (Toyota&Honda-2545) และรถยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (Nissan-2552) แต่ดูเหมือนว่าในบางครั้งพวกเขาก็ยังยึดมั่นและทำตัวเหมือนกับไม่ตามกระแสสักเท่าไร
ตรงนี้จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะถ้าพูดถึงเรื่องของการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านมลพิษ บริษัทรถยนต์หลายแห่ง โดยเฉพาะ โตโยต้า มีรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ เช่น ไฮบริด FCEV หรือ PHEV วางขายอยู่ในตลาดอยู่แล้ว และหลายรุ่นด้วย ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาอาจจะขยับตัวช้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ขยับตัวเลข
จากการเปิดเผยของโตโยต้าเอง แม้ว่าพวกเขาจะมุ่งมั่นกับการผลักดันการใช้ไฮโดรเจนในการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในระบบปิดของตัวรถด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) แต่เมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว โตโยต้า มีแผนการทำตลาดอยู่เช่นกัน เพราะถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตก็ต้องบอกว่าโตโยต้า ถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดประเภทนี้เช่นกัน เพียงแต่ RAV4 EV ที่เปิดตัวในปี 2540 ต้องล้มพับไปพร้อมกับ EV1 ของ จีเอ็มเพราะมาผิดที่ผิดเวลา ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งในปี 2555 แต่นั่นก็เป็นผลผลิตที่ไม่ Mass เหมือนกับ LEAF ของ นิสสัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในให้เป็นไฮบริดในรูปแบบต่างๆ เพื่อแทนที่รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเพียงอย่างเดียวแล้วโตโยต้า เองก็มีแผนในการผลิตรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำออกสู่ตลาด โดยตามสัญญาที่ทำเอาไว้กับ ซูซูกิ ,ซูบารุ และมาสด้า นั้น ทางโตโยต้า จะเป็นแม่งานใหญ่ในการพัฒนาเทคโนโลยี EV เพื่อต่อยอดให้กับแบรนด์เหล่านี้ และภายใต้ชื่อโตโยต้า เองจะมีรถยนต์ไฟฟ้าออกขายในตลาดทั่วโลกถึง 10 รุ่นภายในปี 2568
ส่วนฮอนด้า มีรุ่น e วางขายอยู่แล้ว แต่พวกเขาก็มีแผนที่จะเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ ออกมาด้วยเช่นกัน และวางแผนเอาไว้ว่าภายในปี 2565 จะมีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนทั้งแบบไฮบริด และไฟฟ้าล้วนรุ่นใหม่ๆ เปิดตัวออกมาไม่ต่ำกว่า 4 รุ่น ขณะที่ นิสสัน นอกจาก LEAF และที่เพิ่งเปิดตัวออกมาอย่าง Ariya ก็จะมีรถยนต์ขนาดเล็กไซส์ K-Car และ SUV ขนาด 7 ที่นั่งในเวอร์ชันพลังไฟฟ้าออกมาทำตลาดด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า แม้ค่ายญี่ปุ่นที่ทำท่าว่าจะไม่สนใจตลาดอีวี ในตอนแรก แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะทำตัวเป็น ปลาว่ายทวนน้ำได้ตลอดเวลาในเมื่อกระแสของตลาดทั่วโลกกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลง
แต่ละแบรนด์มีอะไรอยู่ในใจบ้าง
จริงอยู่ที่หลายแบรนด์ โดยเฉพาะฝั่งญี่ปุ่นที่ยังยึดนโยบายในการผลิตโดยเน้นไปที่เทคโนโลยีเปลี่ยน ผ่านอย่างไฮบริดมากกว่าที่จะกระโดดเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังเหมือนกับแบรนด์ฝั่งยุโรป แต่ทว่าส่วนใหญ่ก็มีแผนในการุรกเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ตัวเองไม่เคยรุกล้ำเข้ามาก่อน
ปอร์เช่ ถือเป็นแบรนด์รถสปอร์ตที่ประกาศตัวอย่างโดดเด่นว่าจะลุยตลาด อีวี เพราะนับตั้งแต่การเปิดตัวรุ่น Taycan ออกมา ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรหยุดพวกเขาได้ และตามแผนการของ ปอร์เช่ พวกเขาจะมีเวอร์ชันพลังไฟฟ้าของรถยนต์ที่มีขายอยู่แล้วในตลาดออกมาถึง 4 รุ่นเลยทีเดียวภายในปี 2565 ขณะที่รุ่น 911 นั้น มีข่าวระบุว่าจะมีเวอร์ชันพลังไฟฟ้าออกวางขายภายในปี 2573
โฟล์กสวาเกน ลุยหนักไม่แพ้กัน เพราะจากเดิมที่มีเพียง 1 เดียวในตอนนี้คือรุ่น ID.3 แต่ตามแผนงานภายในปี 2568 จะมีอีก 4 รุ่นที่เปิดตัวออกสู่ตลาด โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ที่ผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่ ไม่ได้ถูกสร้างจากรถยนต์ที่มีอยู่แล้วในตลาด
ทางฝั่งเกาหลีก็แรงไม่แพ้กัน เพราะทั้งฮุนได และเกีย ต่างมีแผนการรุกตลาดของตัวเองอยู่แล้ว อย่าง ฮุนได นอกจาก Kona Ioniq และ Nexo แล้ว พวกเขายังมีอีก 3 รุ่นรอคิวเปิดตัวคือ รถยนต์แบบครอสส์โอเวอร์บนพื้นฐานของ Ioniq ตามด้วยรถยนต์ซีดานขนาดกลางและปิดท้ายด้วย เอสยูวี แบบ 7 ที่นั่ง
ส่วน เกีย กลับฮ็อตกว่า เพราะประกาศจะมีรถยนต์เปิดตัวถึง 13 รุ่นภายในปี 2568 โดยจะมี 2 รุ่นแรกออกขายก่อน นั่นคือ e-GT ในมาดสปอร์ต และเอสยูวี แบบไฟฟ้าที่จะเริ่มขายไม่เกินปี 2565 ส่วนที่เหลืออีก 11 รุ่นจะทยอยเปิดตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2568
ยอดขายจะเป็นอย่างไรต่อไป ?
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในช่วงเริ่มต้นทุกอย่างจะดูเล็กไปหมด เพราอย่างในปี 2561 ที่ โฟล์กสวาเกน ทำยอดขายแซงหน้า โตโยต้า ด้วยตัวเลข 10.8 ล้านคัน สัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าในตอนนั้นมีแค่ 40,000 คันหรือคิดเป็น 0.4% เท่านั้นเอง หรือเมื่อมองในแง่ภาพรวมตลาดโลกจากจำนวนยอดขายทั่วโลกราวๆ 95 ล้านคัน มีรถยนต์ไฟฟ้าแค่ 1.3 ล้านคัน โดย Tesla ขายได้ถึง 220,000 คันตามด้วย BAIC Group ของจีนซึ่งอยู่ที่ 150,000 คัน กลุ่ม Alliance ของนิสสัน , เรนโลต์ และมิตซูบิชิ อยู่ที่ 130,000 คันที่เหลือก็เป็นของบีเอ็มดับเบิลยู , โฟล์กสวาเกน ,เดมเลอร์ รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ลดหลั่นกันไป
แต่ทว่ากราฟตรงนี้เริ่มขยับขึ้นเรื่อยๆ
ในทศวรรษที่ 2563 กราฟยอดขายระหว่างรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในกับรถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มสวนทางกัน เพราะอย่างที่บอกข้างต้นว่ามาจากปัจจัยในเรื่องการเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดทางภาครัฐ และการมองหาความยั่งยืนในการขับเคลื่อน ผลคือ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถแซงหน้ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในได้ภายในปี 2583 โดยมีการประเมินว่าเมื่อถึงตอนนั้นยอดขายจะอยู่ที่ 48.8 ล้านคัน ต่อ 42.2 ล้านคันตามลำดับ
โดยปัจจัยเร่งเร้าเรื่องนี้มีอยู่ 2 เรื่องคือ การบังคับใช้มาตรการด้านการควบคุมมลพิษของ EU ที่เริ่มในปี 2564 และการที่จีนกลายเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของโลก โดยว่ากันว่าในส่วนของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้านั้น โฟล์กสวาเกน จะเป็นเจ้าครองตลาดด้วยตัวเลขในระดับ 1.4 ล้านคันต่อปีเลยทีเดียว
ในปัจจุบัน เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างมักจะมาอย่างรวดเร็วและฉับพลันไม่ทิ้งระยะนานเหมือนกับในอดีต ดังนั้น ใครที่ไม่อยากตกขบวนรถไฟที่ชื่อว่า อีวี ก็ต้องหันมาสนใจตลาดกลุ่มนี้อย่างจริงจังกันแล้ว
|