|
ขอบคุณ ประชาชาติธุรกิจ (12 เม.ย. 2023) [1515 Views]
|
สิงห์รถบรรทุก เฮ หลัง พนัส แอสเซมบลีย์ จับมือ บพข. พัฒนารถบรรทุกดัดแปลง ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% EV Conversion เล็งเปลี่ยนฟลีตรถขนส่งเครื่องยนต์สันดาปใช้น้ำมัน เป็นรถบรรทุก EV ตามนโยบาย 30@30 คาดไตรมาสสามเตรียมทำตลาด
วันที่ 12 เมษายน 2566 นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด (PANUS) ผู้นำการพัฒนานวัตกรรม การต่อตัวถังรถบรรทุกแบบใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้ร่วมมือกับ หน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หนึ่งในองค์กรภายใต้การกำกับ ดูแลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา ร่วมกันทำโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV Conversion ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนรถขนส่งเดิมที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปใช้น้ำมันมาเป็นการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ในงบประมาณที่เหมาะสม
โดยบริษัทได้มีการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยร่วมมือสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้รับการสนับทุนวิจัยจาก บพข. ในการพัฒนา ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV Conversion เพื่อรองรับในธุรกิจโลจิสติกส์
ผมคิดว่าอนาคตของประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องลงลึกด้าน R&D แบบเชิงลึก จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มสร้าง GNP ขึ้นมาอย่างจริงจัง ซึ่งหากปล่อยตามกลไกของตลาดจะมีแต่ GDP จากการที่ต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานผลิต หรือนำเข้ารถไฟฟ้าทั้งคัน และสุดท้ายเราจะเป็นเหมือนเดิมคือ การรับจ้างผลิตหรือขายแรงงาน
สำหรับ EV Conversion จะเป็นมิติใหม่ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและเกิดเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG อย่างแท้จริง และจะช่วยเร่งยกระดับเอสเอ็มอีไทยให้สามารถสร้างนวัตกรรมเองได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน เพราะลำพังผู้ประกอบการอย่างเดียวไม่อาจจะพัฒนางานวิจัยเชิงลึกให้ทันโลกและทันต่อความต้องการของตลาดได้ โดยภาครัฐจำเป็นต้องมีการสนับสนุนมากขึ้น เพื่อไปสู่โรดแมปของประเทศ ซึ่งภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 จะต้องมีรถ EV Conversion ถึงประมาณกว่า 80,000 คัน
นอกจากนี้ บริษัทจะพยายามกระจายและให้ความรู้ในเชิงเทคโนโลยีไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยให้มากที่สุด ผ่านการพัฒนาบุคลากร การฝึกงานนักศึกษา การส่งเสริมสตาร์ทอัพ และผลักดันให้เอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถต่าง ๆ ได้มีโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้เชิงลึกมากขึ้น โดยพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ เน้นการเรียนรู้ที่ได้เข้าถึงต้นตอ ของเทคโนโลยี เพื่อให้บริษัทเหล่านี้ สามารถที่จะคิดค้นนวัตกรรมหรือพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาได้ในอนาคต
สำหรับ EV Conversion จะเป็นมิติใหม่ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและเกิดเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG อย่างแท้จริง และจะช่วยเร่งยกระดับเอสเอ็มอีไทยให้สามารถสร้างนวัตกรรม เองได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน เพราะลำพังผู้ประกอบการอย่างเดียวไม่อาจจะพัฒนางานวิจัยเชิงลึก ให้ทันโลกและทันต่อความต้องการของตลาดได้ โดยภาครัฐจำเป็นต้องมีการสนับสนุนมากขึ้น เพื่อไปสู่โรดแมปของประเทศ ซึ่งภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 จะต้องมีรถ EV Conversion ถึงประมาณกว่า 80,000 คัน
ขณะที่ รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่ามีการให้ทุนโครงการต่าง ๆ ทั้งในลักษณะโครงการที่เป็นสาธารณประโยชน์ ที่ บพข. สนับสนุนทุน 100% และโครงการต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่นักวิจัยจับคู่พัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการ โดย บพข.ได้จัดสรรทุนวิจัยไปแล้ว 907 โครงการ คิดเป็นเงินกว่า 7,000 ล้านบาท มีเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยร่วมสนับสนุนโครงการมากกว่า 500 บริษัท
|