|
ขอบคุณ ประชาชาติธุรกิจ (29 มกราคม 2023) [1543 Views]
|
โดรน (drone) เป็นเทคโนโลยีหุ่นยนต์บังคับ (robotics) ชนิดหนึ่งที่มีการปรับแต่งการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างยืดหยุ่น หากพูดถึงการใช้งานทดแทนมนุษย์ โดรนการเกษตร นับเป็นการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยมนุษย์ให้ปลอดภัยจากสารเคมี ลดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มาก
แม้ปัจจุบันตลาดโดรนการเกษตรในไทย จะมีสินค้าจากประเทศจีน ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 95% แต่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ล่าสุด ทรู ดิจิทัล ประกาศเข้ามาลงทุนในบริษัท HiveGround (ไฮฟ์กราวนด์) สตาร์ตอัพสัญชาติไทย ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ และโดรนโซลูชั่น
เสริมแกร่งสตาร์ตอัพไทย
ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า กลุ่มทรู สนับสนุนสตาร์ตอัพไทยหลายด้านให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะมองว่ามีคนไทยเก่ง ๆ เยอะมาก แต่ขาดการสนับสนุนเพื่อ scale up ขึ้นไป ประกอบกับกลุ่มทรู มีธุรกิจที่ต้องให้บริการบริษัทในเครือในด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นในเครือ CPF หรือทรู ดิจิทัล ก็มีโซลูชั่น ทรู ฟาร์ม การร่วมลงทุนกับไฮฟ์กราวนด์จึงเป็นการขยายขาด้าน AgTech (ธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตร)
ไฮฟ์กราวนด์ทำแพลตฟอร์มโรโบติกส์เอง สามารถตอบโจทย์ยูสเคสได้ตรง และหลากหลาย การ synergy กันจะมีสองส่วน คือ เรื่องโดรนเกษตรเป็นเรื่องที่เราต้องจัดหาเพื่อสร้างข้อเสนอที่ดีที่สุดให้ลูกค้าเราอยู่แล้ว อีกส่วน คือ เราจำเป็นต้องสำรวจเสาสัญญาณและ facility เช่น โซลาร์เซลล์ จึงป้อนยูสเคสให้ไฮฟ์กราวนด์ ใช้โดรนเข้ามาทำตรงนี้ได้ ดีกว่าให้เวนเดอร์ที่ขายโดรนทั่วไปเข้ามาทำ
นอกจากนี้ เกษตรกรรมยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ซึ่งการลงทุนใน HiveGround ช่วยเพิ่มศักยภาพ และกำลังการผลิตโดรนได้จากการเปิดโรงงานแห่งใหม่ รองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมเปิดตัว ไทเกอร์โดรน โดรนการเกษตรที่จะนำมาต่อยอดการทำงานร่วมกับ ทรูฟาร์ม โซลูชั่น เพื่อช่วยบริหารจัดการฟาร์มเกษตรได้ เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมโดรน และหุ่นยนต์ที่คิดค้น ออกแบบ พัฒนา และผลิตโดยคนไทยด้วยมาตรฐานเทียบเท่าสากล เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเกษตรกร ทั้งในไทยและต่างประเทศ
เปลี่ยนความรักเป็นธุรกิจ
ด้าน ดร.มหิศร ว่องผาติ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นของบริษัทว่า เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนวิศวกรสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่มีความหลงใหลเทคโนโลยีหุ่นยนต์ หรือโรโบติกส์ และเคยร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ไปแข่งขันในเวทีต่าง ๆ กวาดรางวัลระดับโลกมาแล้วมากมาย เมื่อเรียนจบก็แยกย้ายกันไปเรียนต่อ บ้างไปทำงานต่างประเทศ กระทั่งปี 2011 มีบางส่วนกลับมาประเทศไทยจึงรวมตัวกันตั้งบริษัทเพื่อออกแบบ และผลิตหุ่นยนต์ตามสั่ง
ตอนเริ่มต้น เราพัฒนาตามออร์เดอร์ ซึ่งมีความหลากหลายมาก จนมาถึงจุดหนึ่งมองเห็นแนวโน้มการใช้โดรนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2020 เติบโตถึง 200% โดยในปี 2022 ยอดจดทะเบียนการใช้งานโดรนในไทยมีถึง 10,000 ลำ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ปัจจุบันแบรนด์ DJI จากจีนครองส่วนแบ่งตลาดถึง 55% บริษัทอื่น ๆ จากจีนรวมกันอีก 45% อีก 5% เป็นบริษัทไทย จึงจำเป็นอย่างมากที่อุตสาหกรรมไทยต้องเร่งพัฒนาเพื่อช่วยกันแย่งส่วนแบ่งนี้กลับมา เพราะมีบุคลากร และความสามารถที่จะสร้างโดรนให้ตอบสนองความต้องการในประเทศ และยังส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย
เจาะตลาดโดรนเกษตร
เมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเกษตร ที่มีแนวโน้มขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรเข้าสู่การสูงวัย และการขยายตัวของเมืองทำให้มีการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าแรง จึงจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน ซึ่งไฮฟ์กรานด์ถนัดเรื่องหุ่นยนต์ จึงกลายมาเป็นการพัฒนาโดรนด้านการเกษตร
เวลาพูดถึงการใช้โดรนเกษตรดูง่าย แต่สำหรับเกษตรกรมีอีกหลายสิ่ง ที่เห็นชัด คือ ถ้ามีโดรน คุณต้องมีรถปิกอัพคนส่วนใหญ่ใช้รถปิกอัพแบบไหน แบบมีแค็บไหม กระบะใหญ่ไหม เล็กไหม ถ้าโดรนใหญ่ไปอาจต้องหากระบะคันใหม่ เพื่อขนโดรนไปนา ดังนั้นการออกแบบต้องคำนึงถึงส่วนนี้ด้วย หรือแปลงนา แปลงเกษตรในบ้านเราเป็นแปลงนาที่ยาก มีรูปทรงไม่ชัดเจน คดเคี้ยวไปตามการแบ่งของเจ้าของนา เป็นวัฒนธรรมคนไทย คนหนึ่งมีแปลงนาเล็ก ๆ แบ่งกันหลายแปลง โดยเฉพาะในภาคอีสาน ดังนั้นระบบควบคุมโดรน เซ็นเซอร์ และซอฟต์แวร์ต้องออกแบบเฉพาะ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา เพราะเคยรับจ้างผลิตหุ่นยนต์ ทำให้ customized ได้
ปัจจุบันภาพรวมตลาดโดรนในประเทศไทยมีมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท แต่ภายใน 3-4 ปีข้างหน้ามีโอกาสขยายตัวในแง่จำนวนอาจนับแสนลำ มูลค่ากว่า 3-4 หมื่นล้านบาท
ถ้าขยับไปในระดับภูมิภาคจะยิ่งมากกว่านั้น เฉพาะความต้องการด้านเกษตร คำนวณเฉพาะนาข้าว ไม่รวมพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ต้องการใช้โดรนพ่นยา พ่นปุ๋ยเหมือนกัน พื้นที่นาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกันแล้วใหญ่กว่าไทย 4 เท่า ทำให้ความต้องการใช้โดรนมีโอกาสโตถึงแสนล้านบาท ถ้าคิดที่นาทั่วโลกรวมกันจะใหญ่กว่านี้ 17 เท่า ทุกบริษัทล้วนเห็นตัวเลขนี้จึงเข้ามาในตลาดนี้ก่อน ปัญหาของเราคือจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาดมูลค่ามหาศาลนี้อย่างไรจึงระดมทุนจนได้กลุ่มทรูมาลงขัน 21.7%
โฟกัสตลาดไทยก่อนโกอินเตอร์
การระดมทุนครั้งล่าสุด ไม่ได้มีแค่กลุ่มทรู แต่ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่สนใจลงทุนด้วย รวมแล้วได้เงินมาราว 24 ล้านบาท นำไปใช้สร้างโรงงานผลิตโดรนที่ จ.นครปฐม ทำให้มีศักยภาพในการผลิตตั้งแต่การยิงเฟรมขึ้นรูป และประกอบส่วนต่าง ๆ เอง โดยโรงงานแห่งใหม่ ผลิตโดรนเกษตร รุ่น ไทเกอร์โดรน ได้ราว 150 ลำต่อเดือน ยืดหยุ่นตามออร์เดอร์
เรายังนำแบบการสร้าง และเทคโนโลยีที่มีออกไปขยายสาขาในฟิลิปปินส์ เป็นการทำผ่านพาร์ตเนอร์ให้ช่วยผลิต และจำหน่ายที่นั่น ที่ผ่านมาจุดอ่อนของเราอยู่ที่ความสามารถในการทำตลาด ซึ่งเงินทุนที่ได้มาเพิ่มทำให้สามารถขยายทีมด้านการขาย การทำตลาด และการบริการลูกค้าเพิ่มขึ้นทำให้มีความพร้อมตั้งแต่การผลิต และจำหน่าย จึงน่าจะมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวจากสตาร์ตอัพในประเทศไปสู่การทำตลาดระดับภูมิภาค
โดรน คือเทคโนโลยีหุ่นยนต์
ไทเกอร์โดรนเป็นโดรนที่ออกแบบจาก pain point ของเกษตรกรไทย และอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นขนาดโดรน และซอฟต์แวร์ เป็นเทคโนโลยีของเราเอง ระบุพื้นที่แบบไร่ งาน วา ช่วยให้เกษตรกรทำงานง่ายขึ้น นอกจากโดรนเกษตรที่ถือเป็นเรือธงของเรา เรายังมีโดรนสำรวจแบบ fixed wings และเป็นผู้วางระบบสื่อสารควบคุมโดรน และหุ่นยนต์ด้วย อีกทั้งยังปรับโครงสร้างไทเกอร์โดรนให้เป็นตามความต้องการของลูกค้าได้ เช่น ปรับเป็นโดรนส่งของให้ ปตท. หรือทำหุ่นยนต์โมบายโรบอตส่งของ เหล่านี้เป็นยูสเคสที่เกิดขึ้นในการปรับใช้เทคโนโลยีโรโบติกส์ เพราะบุคลากรของไฮฟ์กราวนด์ เป็นวิศวกรหุ่นยนต์ การมีทุนทำโรงงานผลิตทำให้เกิดการเรียนรู้ และสร้างสรรค์ผลงาน ต่อยอดไปสู่การออกแบบตอบสนองยูสเคสใหม่ ๆ ได้ เพราะเทคโนโลยีเชิงลึกในระบบหุ่นยนต์เป็นของบริษัทเอง
ดร.มหิศร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้ว โดยส่วนใหญ่จะย้อนกลับไม่ได้ หรือเลิกไม่ได้ เช่น ใช้มือถือแล้วก็เลิกไม่ได้ กรณี โดรน ก็เช่นกัน ทั้งยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าคน ทำให้คนปลอดภัยขึ้น
ใน 3-4 ปีนี้ ไทยจะมีความต้องการโดรน 8 หมื่น-1 แสนลำ คิดเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาทที่ต้องลงทุนซื้อ ซึ่งไฮฟ์กราวนด์ ในฐานะสตาร์ตอัพไทยที่ได้รับโอกาสจากการระดมทุนครั้งล่าสุดก็มองว่านอกจากจะทำให้ธุรกิจโตต่อได้แล้ว ก็คิดว่ายิ่งเราทำได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งช่วยประเทศเพิ่มดุลการค้าโดรนทางอ้อมที่มีบริษัทจีนเป็นเจ้าตลาดอยู่
|