|
ขอบคุณ เดลินิวส์ออนไลน์ (19 ธันวาคม 2023) [1675 Views]
|
ส่องธุรกิจ โดรนการเกษตร ลงทุนสูงแต่มาแรง! ส่วนโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) เป็นเรื่องดีสำหรับคนไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์-โดรนมีราคาสูง แต่มีปัญหาเวลาดูแลรักษา ใครจะรับผิดชอบ ที่สำคัญคือหาคนขับยาก! ต้องซื้อตัวกัน.
สัปดาห์ที่แล้ว นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยเกี่ยวกับ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) จะเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตร โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ผ่านการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบิน และการซ่อมบำรุงโดรนแก่กลุ่มเกษตรกรและชุมชนทั่วประเทศ โดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ.
อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น จัดจำหน่ายโดรนการเกษตรที่ได้รับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยภายใน 1 ปี ของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯทั่วประเทศ50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน คิดเป็นพื้นที่ทางการเกษตรรวมกันไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ นอกจากนี้ดีป้าและพันธมิตรจะเปิดอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ ควบคุมการบินจากระยะไกล และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ตั้งเป้าผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บังคับ หรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ 1,000 คน และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 100 คน.
วันนี้ทีมข่าว Special Report พาไปดูธุรกิจ โดรน รับจ้างฉีดพ่นในนาข้าว เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวนาที่กำลังประสบปัญหาหาคนงานรับจ้างหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว-ฉีดพ่นยาคลุมหญ้า-ฉีดพ่นปุ๋ย ยากขึ้นกว่าเก่า.
จ๊อย แปดริ้ว เจ้าของกิจการ เฮ้ย! โดรนเกษตรนี่หว่ะ บอกว่าเขาอยู่ในธุรกิจนี้มา 5-6 ปีแล้ว ตั้งแต่เป็นโดรนตัวเล็ก ขนาดบรรทุก 10 ลิตร (10กิโลกรัม) จนปัจจุบันโดรนที่ใช้งานอยู่ใหญ่ขึ้นมาเป็นขนาดบรรทุก 25 ลิตร ใช้งานมาได้ประมาณ 1 ปี 2 เดือน แต่ขณะนี้มีการพัฒนาใหญ่ขึ้นไปจนถึงขนาด 40-60 ลิตร แล้ว!
ตัวนี้เป็นโดรนของจีน ยี่ห้อ DJI ราคาประมาณ 4 แสนบาท ได้มาพร้อมเครื่องชาร์จ และแบตเตอรี่ 2 ก้อน แต่เราต้องซื้อแบตฯ สำรองเพิ่มอีก 1 ก้อน (ราคา42,000บาท) เพื่อให้ทันกับการชาร์จ และการบินฉีดพ่นอย่างต่อเนื่องในแปลงนาขนาด 20 ไร่ ใช้เวลาฉีดพ่นประมาณ 2 ชั่วโมง.
นาแปลงไหนเพิ่งเคยฉีดพ่นกันครั้งแรกก็เดินดูรูปแปลงนา-บินสำรวจก่อน จากนั้นจึงมาวางแผนเขียนเส้นทางการบินลงในวิทยุบังคับ เพื่อให้ทำการบินฉีดพ้นได้อย่างสม่ำเสมอทั่วถึง ไม่บินซ้ำ ไม่บินหลง ส่วนการบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าว-น้ำยาฆ่าหญ้า-เม็ดปุ๋ย ที่ลำตัวโดรนจะมีการชั่งน้ำหนัก แล้วโชว์ตัวเลขมาที่วิทยุบังคับ ถ้าใส่ลงไปมากเกินน้ำหนักบรรทุกก็ต้องตักออก โดยเจ้าของนาจะเป็นคนกำหนดว่า 1 ไร่ ต้องการใช้เมล็ดพันธุ์กี่กิโลกรัม ใช้ปุ๋ยกี่กิโลกรัม ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้ามาบินฉัดพ่นครั้งต่อไปจะง่ายแล้ว เพราะงัดข้อมูลเก่ามาใช้ได้เลย
เมื่อบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือน้ำยาฆ่าหญ้า หรือเม็ดปุ๋ยเสร็จแล้ว ก็ต้องตรวจความพร้อมของแบตฯ มีปริมาณไฟพอหรือไม่ ถ้าไฟเหลือน้อยก็ต้องเปลี่ยนแบตฯก้อนใหม่ แล้วทำการชาร์จแบตฯสำรองไว้อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นจึงทำการบินฉีดพ่น จะบินสูงแค่ไหน บินเร็วขนาดไหน สามารถตั้งโปรแกรมในวิทยุบังคับ และต้องดูสภาพลมด้วย ว่าลมแรงหรือไม่ ถ้าลมแรงก็ต้องบินช้า แต่ส่วนใหญ่จะบินด้วยความเร็ว 6-6.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนเรื่องอุบัติเหตุมีบ้าง เช่น เกิดจากปัญหาระบบ เออร์เรอร์ เครื่องตก! หรือเกิดจากความประมาทของคนขับ (คนบังคับ) บินไปชนเสาไฟฟ้า-สายไฟฟ้า-ต้นไม้.
ลำนี้บินมาประมาณ 1 ปี 2 เดือน รับงานฉีดพ่นในนาข้าวในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.ฉะเชิงเทรา ข้ามไปบางส่วนของ อ.พนัสนิคม อ.พานทอง จ.ชลบุรี รวมทั้ง อ.บ้านสร้าง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี บินฉีดพ่นไปแล้วกว่า 34,000 ไร่ คิดค่าจ้างไร่ละ 60-80 บาท ทำงานสูงสุดวันละ 200 ไร่ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่วันละ 80-100 ไร่ เคยทำงานถึง 4 ทุ่ม แต่บางรายเขาบินทำงานจนถึงตี 1 ตี 2 ก็มี สำหรับโดรนลำนี้อาจจะบินทำงานหาเงินไปอีก 1 ปี แล้วจึงเอาโดรนลำนี้ พร้อมเงินสด 2 แสนบาท ไปเทิร์นเอาลำใหญ่กว่าออกมาใช้งาน
เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ของรัฐบาล? จ๊อย แปดริ้ว บอกว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากปัจจุบันหาคนงานยาก และปัญหาของคนงานคือหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว-ปุ๋ย ไม่สม่ำเสมอ และโดรนทำงานได้เร็วกว่า แต่ค่าจ้างอาจจะพอๆกัน
ส่วนโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ)นั้น ปัจจุบันในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีหลายกลุ่มที่ทำนาแปลงใหญ่ มีการใช้อุปกรณ์ต่างๆร่วมกัน รวมทั้งโดรน คือเป็นเรื่องดีสำหรับคนที่ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์-โดรนซึ่งมีราคาสูง แต่จะมีปัญหาเวลาดูแลรักษา ใครจะรับผิดชอบ ที่สำคัญคือหาคนขับ (คนบังคับ)ยาก! ขนาดคนทำธุรกิจโดรนยังมีการซื้อตัวคนขับโดรน ต้องจ้างคนขับโดรน ไร่ละ 7-8 บาท ตนมีทีมงาน และยังฝึกขับโดรนอยู่ แต่ยังปล่อยมือออกไปรับงานไม่ได้ กลัวว่าบินฉีดพ่นไม่ดี จะเสียชื่อเราเปล่าๆ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจนี้มีการแข่งขันกันมากพอสมควร
|