งานเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมขาย ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา หลังเปิดราคาขายที่สูงเกินคาด 6.75 แสนบาท 7.35 แสนบาท และตัวท็อป 7.90 แสนบาท ในสามรุ่นย่อยของตัวถังแฮทช์แบ็กและซีดาน (จริงๆพนักงานขายมาสด้าให้ระดับราคาคร่าวๆตั้งแต่ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปแล้ว) จึงเกิดข้อสงสัยและ ความคิดท้าทายขึ้นมาในหัวผู้เขียนทันทีว่า ไอ้ที่เคยชมว่าดีและนี่จะเป็นอนาคตของมาสด้า ประเทศไทย หรือนับเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะได้ใช้เทคโนโลยีคุณภาพ แต่การต้องแลกมาด้วยระดับราคาขนาดนี้ มันสมเหตุสมผลหรือไม่?
หลังลองขับยาวๆ ได้สัมผัสรถเต็มๆ พร้อมเข้าห้องเรียนที่มาสด้าพยายามสื่อสารข้อมูลให้มากที่สุด ผู้เขียนว่า ตอนนี้น่าจะมีคำตอบให้กับความสงสัยดังกล่าว
ประการแรก มาสด้าพยายามชูจุดเด่นของรถเก๋งเครื่องยนต์คลีนดีเซล หวังให้ลูกค้ารู้สึกถึง ความภูมิใจใน การเป็นเจ้าของ และความคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
โดยย้ำว่าคุณสมบัติของน้ำมันดีเซลจะให้หน่วยพลังงาน (BTU-British thermal unit) ที่สูงกว่าน้ำมันเบนซิน อยู่แล้วในปริมาณที่เท่ากัน ยิ่งมาเจอเทคโนโลยีใหม่ๆที่ถูกนำมาพัฒนากับเครื่องยนต์ดีเซล ทั้งระบบควบคุม การฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยสมองกลอิเลกทรอนิกส์ รวมถึงเทอร์โบชาร์จ และวาล์วแปรผัน ส่งผลให้เครื่องยนต์ดีเซล มีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องยนต์เบนซินในแง่ของกำลังและอัตราบริโภคน้ำมัน เมื่อเทียบในพิกัดเดียวกัน
ตัวเลขชัดๆคือ ให้แรงบิดมากกว่า 50% แต่กินน้ำมันน้อยกว่า 30% และปล่อย CO2 น้อยกว่า 25% ดังนั้น รถเครื่องยนต์ดีเซลจึงได้รับความนิยมในหลายๆภูมิภาค อย่างทวีปยุโรปรถยนต์ที่ขายไปทั้งหมด 53% เป็นรถ เครื่องยนต์ดีเซล ขณะเดียวกันถ้าวัดจำนวนรถเครื่องยนต์คลีนดีเซลทั่วโลก พบว่าในปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 23%
ในโอกาสนี้มาสด้าจึงเน้นหนักแน่นว่า ตนเองเป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรายแรกที่พยายาม พัฒนารถยนต์นั่ง เครื่องยนต์คลีนดีเซล และทำตลาดในราคาที่ทุกคนเป็นเจ้าของได้ง่าย พร้อมเทียบให้เห็นกับ มินิ คูเปอร์ ดี ดูได้จากตารางประกอบ
รายละเอียด |
มาสด้า2 สกายแอคทีฟ ดี1.5 |
มินิ คูเปอร์ ดี |
เครื่องยนต์ |
ดีเซล 4 สูบ 1.5 ลิตร เทอร์โบ |
ดีเซล 3 สูบ 1.5 ลิตร เทอร์โบ |
กำลังอัด |
14.8 : 1 |
16.5 : 1 |
กำลังสูงสุด(แรงม้า)/รตน. |
105 / 4,000 |
116 / 4,000 |
แรงบิดสูงสุด(นิวตัน-เมตร/รตน. |
250 / 1,500-2,500 |
270 / 1,750 |
อัตราบริโภคน้ำมัน(กม./ลิตร) |
26.3 |
26.3 |
อัตราการปล่อยไอเสีย (กรัม/กม.) |
100 |
98 |
ขนาดถังน้ำมัน (ลิตร) |
44 |
44 |
รองรับไบโอดีเซล |
B7 |
B7 |
น้ำหนักรถ(กก.) |
1,129 แฮทช์แบ็ก / 1,142 ซีดาน |
1,225 |
ราคา(บาท) |
675,000-790,000 |
2,440,000 |
นั่นเป็นหนึ่งคุณค่าของรถยนต์มาสด้า2 โฉมใหม่กับเครื่องยนต์คลีนดีเซล หรือสกายแอคทีฟ-ดี ส่วนข้อมูลทาง เทคนิคอื่นๆที่เกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องยนต์บล็อกนี้ ผู้เขียนขอนำเสนออีกครั้งครับ ทั้งการใช้หัวฉีดโซลินอยด์ของ Piezo ที่ความยาวรวมของหัวฉีด 10 รู มีขนาดสั้นลง จึงให้ละอองการฉีดน้ำมันละเอียด พร้อมควบคุมด้วย ระบบการเผาไหม้แบบใหม่ Combustion Control Logic ช่วยสร้างเสถียรภาพในการเผาไหม้และลดอาการน็อค โดยจัดการฉีดน้ำมันถึง 4 ครั้งในหนึ่งวงจรการเผาไหม้
ตลอดจนเทอร์โบแบบแปรผัน และระบบEGRแบบคู่ อินเตอร์คูลเลอร์ระบายความร้อนด้วยน้ำทำงาน ร่วมกับท่อร่วมไอดีที่พัฒนาใหม่ (ลดขนาดและเปลี่ยนจากใช้วัสดุอลูมิเนียมมาเป็นพลาสติก ลดน้ำหนักได้ 1.4 กิโลกรัม) ซึ่งจะช่วยกันสร้างแรงดันอากาศได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมรักษาแรงบิดได้ตั้งแต่รอบต่ำไปถึงรอบสูง
โดยเครื่องยนต์เทอร์โบ ดีเซล ขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิด 250 นิวตันเมตร ที่ 1,500-2,500 รอบต่อนาที เมื่อส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด (สกายแอคทีฟ-ไดร์ฟ) มาสด้าเคลมอัตราบริโภคน้ำมันไว้ 26.3 กม./ลิตร ผ่านมาตรฐานอีโคคาร์เฟสสองได้แบบสบาย (รัฐบาลกำหนดไว้ ไม่ต่ำกว่า 23 กม./ลิตร)
ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์และเกียร์ ส่งผ่านกำลังลงสู่ล้อคู่หน้าได้แบบนวลๆ แรงมาเนียนๆต่อเนื่อง เครื่องยนต์เดินเรียบและเงียบพอสมควร ทว่าเมื่อเข่นคันเร่งแรงๆรอบดีดเกิน 3,000 เสียงเครื่องยนต์ยังคำราม เข้ามาแบบสุภาพ ให้ความรู้สึกกระชุ่มกระชวยนิดๆ
อย่างไรก็ตามการตอบสนองของคันเร่งต่อแรงฉุดกระชาก ไม่ถึงกับรวดเร็วตามน้ำหนักเท้าที่กดลงไปนัก กล่าวคือต้องกดคันเร่งลงไประดับหนึ่งและรอเสี้ยวอึดใจถึงจะรับรู้ถึงอาการพุ่งทะยานของตัวรถ ประเด็นนี้มาสด้า น่าจะคำนึงถึงอัตราบริโภคน้ำมันและการปล่อยไอเสียตามเงื่อนไขของอีโคคาร์เฟสสองเอาไว้ด้วย เพราะถ้าคันเร่ง ตอบสนองเร็วไป ตัวเลขดังกล่าวอาจจะออกมาไม่ดีตามข้อมูลที่แสดง
การทดสอบในทริปล่าสุดที่จังหวัดเชียงราย ทีมงานเซ็ทเส้นทางช่วงหนึ่งให้ขึ้นพระตำหนักดอยตุง ซึ่งถือว่าฉลาด เลือกครับ เพราะเส้นทางชันๆ โค้งเยอะๆ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพขุมพลังขับเคลื่อนของมาสด้า 2 โฉมใหม่ได้เป็นอย่างดี
จังหวะส่งขึ้นเนินสูงๆ คิกดาวน์สักหนึ่งจังหวะ เรี่ยวแรงมาแบบนิ่งๆ รถไต่ขึ้นไปได้แบบไม่ต้องลุ้น หรือช่วงชะลอ ลงเขา เครื่องยนต์ดีเซลมีหน่วงมีดึง หรืออาจจะใช้การเปลี่ยนเกียร์ต่ำช่วย ซึ่งเกียร์ทำงานฉับไวตามใจ ผู้ขับพอสมควร
เหนืออื่นใจช่วงทางตรงถนนยาว ความเร็วปลาย 100-140 กม./ชม. ขับสนุก และด้วยบุคลิกของเครื่องยนต์ ดีเซลพอความเร็วขึ้นไปถึงระดับหนึ่งแล้วถอนคันเร่ง ยังคงมีเรี่ยวแรงส่งให้ตัวรถทะยานไปข้างหน้าต่อเนื่อง
สำหรับหน้าปัดแสดงผลของ มาสด้า2 โฉมใหม่ เข็มชี้วัดความเร็วเป็นวงกลมใหญ่อยู่ตรงกลางครับ ขณะที่รอบ เครื่องยนต์แสดงเป็นแบบดิจิตอลอยู่ทางด้านซ้าย(ของคนขับ) โดยความเร็ว 120 กม./ชม. ที่เกียร์สูงสุด รอบเครื่องยนต์จะอยู่ระดับ 2,000
ด้านอัตราบริโภคน้ำมัน หลังจากเหยียบหนักๆความเร็ว 120-140 กม./ชม ลองวัดตัวเลขในช่วงการทดสอบ 66 กิโลเมตรสุดท้าย (จากทริปทดสอบเกือบ 180 กม.) หน้าจอยังแสดงตัวเลข 5.6 ลิตรต่อ 100 กม. หรือ 17.8 กม./ลิตร
ทั้งนี้จุดเด่นของมาสด้า 2 โฉมใหม่ ยังอยู่ที่การเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร เงียบกว่ารุ่นเดิมราวฟ้ากับเหว และน่าจะดีกว่าบี-คาร์(ซับคอมแพกต์)หลายรุ่น ส่วนช่วงล่างนุ่มหนึบ ตัวรถนิ่งเมื่อใช้ความเร็วสูง จังหวะสาดใส่ในโค้งให้ความมั่นใจ ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าตัวถังซีดานให้ความสมดุลดีกว่าแฮทช์แบ็กนิดๆ
การตอบสนองของพวงมาลัย แม้ไม่ให้อารมณ์สปอร์ตแบบสุดๆ แต่ก็ไม่ตุ๋มติ๋มเมื่อเทียบกับเก๋งของฮอนด้า โดยพวงมาลัยมาสด้า2 เหมือนจะเบาในช่วงออกตัว แต่ถ้าใช้ความเร็วสูงขึ้น น้ำหนักก็จะหน่วงมือตาม รวมๆแล้วเหมาะสมกับขนาด น้ำหนักตัว และการควบคุมแบบใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน
มาสด้า 2 โฉมใหม่ ทุกรุ่นจะมากับปุ่มสตาร์ท-ดับเครื่องยนต์ และระบบ i-stop ดับเครื่องยนต์อัตโนมัติ เมื่อรถจอดหยุดนิ่ง(แต่การทำงานมีเงื่อนไขมากและไม่ได้ทำงานในทุกครั้งที่หยุดรถ) พร้อมระบบ i-ELOOP คล้ายๆพวกรถไฮบริดที่จะดึงเอาพลังงานจลน์ที่สูญเสียไปจาการชะลอหยุดและการเบรก เปลี่ยนเป็นพลังงาน ไฟฟ้า เพื่อจะนำกลับมาใช้รองรับระบบต่างๆของรถ อาทิ ระบบไฟส่องสว่าง ระบบเครื่องเสียง มาตรวัดแสดงผล ฯ (แต่ระบบนี้ไม่มีแบตเตอรี่ลูกใหม่ มีเพียงอุปกรณ์เก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรดที่ใช้กันอยู่ทั่วไป)
ในรุ่นท็อป XD High Plus มาพร้อมระบบ MZD Connect เชื่อมต่อโลกออนไลน์ ควบคุมผ่านปุ่มบริเวณ คอนโซลกลาง (คล้ายๆไอ-ไดร์ฟ ของBMW) แสดงเมนูผ่านหน้าจอทัชสกรีน 7 นิ้ว และมี Active Drive Display (คล้ายๆ Head Up Display ของBMW) ซึ่งเป็นจอใสอยู่หลังพวงมาลัย พร้อมแสดงข้อมูลการขับขี่ที่สำคัญ
ด้านระบบความปลอดภัยจัดเป็นมาตรฐานทุกรุ่น ไล่ตั้งแต่ เบรกป้องกันล้อล็อค (ABS) ระบบกระจายแรงเบรก (EBD) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล (TCS) ระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HLA) และระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวของรถ (DSC) และถุงลมนิรภัยคู่หน้า
ในส่วนความเคลื่อนไหวของรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน สกายแอคทีฟ-จี ขนาด 1.3 ลิตร มาสด้าบอกยังไม่กำหนด เวลาทำตลาดในไทย เพราะการทำให้ผ่านมาตรฐานไอเสียอีโคคาร์เฟสสอง โดยปล่อย CO2 ต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตรยังเป็นเรื่องยาก ขณะที่ทางเลือกในรุ่นเกียร์ธรรมดา(ประกบเครื่องยนต์ดีเซล-เบนซิน) ยังไม่มีแผนทำตลาดในตอนนี้
รวบรัดตัดความ
เป็น บีคาร์ ระดับพรีเมี่ยมที่เสียภาษีสรรพสามิตอีโคคาร์(17% ตามเฟสแรก และจะเหลือ 14% ในปี 2559 ตามเฟสสอง) มองมุมนี้ได้เปรียบชาวบ้านเขานะครับ ในขณะที่บีคาร์บางค่ายยังเสีย 25%(รองรับแก็สโซฮอล์ อี20) ส่วนกลุ่มอีโคคาร์แท้ๆ และพวกตีตั๋วเด็กอย่าง ยาริส สวิฟท์ มาร์ช เทียบปอนด์ต่อปอนด์สู้มาสด้า 2 ไม่ได้ทั้งนั้น เพียงแต่คุณต้องจ่ายราคาแพงกว่าเพื่อแลกสมรรถนะ ของเครื่องยนต์คลีนดีเซล ที่ให้ทั้งความแรงและประหยัดน้ำมัน ช่วงล่างแน่น การเก็บเสียงดี พร้อมเทคโนโลยีต่างๆที่จัดมาเทียบชั้นรถยุโรป
...ของถูกและดีในตลาดหาไม่ค่อยเจอครับ แต่ถ้าของดีราคาสมเหตุสมผลมีเพียบ ซึ่งมาสด้า2 อยู่ในข่ายนั้น ขับไปไหนไม่ต้องอายใคร ภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ มีเพียง 2 ข้อแม้ที่จะเมินมาสด้า2 ได้คือ 1. คุณต้องการ จ่ายเงินน้อยกว่านี้ 2.มีความพร้อมระดับ7-8 แสนบาทจริงๆ แต่อยากได้รถตัวถังที่ใหญ่ หรือเป็นรถประเภทอื่น ที่อเนกประสงค์กว่านี้
ข้อมูลสเปครถ : Mazda2 Sedan / Mazda2 Hatchback
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ [23949 Views]
|