สัปดาห์นี้อยู่กับ มิตซูบิชิ ไทรทัน เมกะแค็บ รถกระบะอีกรุ่นหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นรถธงของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ที่หมายมั่นให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ โดยปกติสัดส่วนของรุ่นเมกะแค็บ หรือที่เรียกเป็นที่รู้จักมาตรฐานกันว่า กระบะตอนครึ่ง ของรถกระบะทั่วไปทุกยี่ห้อ ส่วนชื่อเรียกจะแตกต่างไปตามแต่จะตั้งชื่อกัน จะมีสัดส่วนยอดขายเกินกว่า 50% ของยอดขายแต่ละบริษัท เนื่องด้วยความเป็นรถกระบะที่เป็นกึ่งพาณิชย์ไว้ประกอบธุรกิจก็ดี ไว้โดยสารก็ยังได้
สำหรับ มิตซูบิชิ ไทรทัน เมกะแค็บ มาพร้อมดีไซน์ภายนอกโฉมใหม่ที่ดูดุดันมากยิ่งขึ้น แตกต่างจากเดิมที่มาแนวหวาน จากการเดินสังเกตรอบคันด้วยตา เส้นสายรายละเอียดต่างๆ ชัดเจนคมเข้ม รับกันเป็นอย่างดีตั้งแต่กระจังหน้าไปจนถึงไฟท้าย ที่ความเห็นส่วนตัวมองว่าลงตัวขึ้นกว่าเดิม
ขณะที่ภายในห้องโดยสารมาพร้อมความสะดวกสบายกว้างขวาง รวมถึงการเข้า-ออกที่ง่ายเพื่อให้สามารถบรรทุกของและคนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งประตูแค็บที่เปิดได้แบบประตูตู้กับข้าว และสามารถเปิดได้กว้างสุดถึง 90 องศา ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การใช้ชีวิตในรถคันนี้ดียิ่งขึ้น
ไม่เท่านั้น อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสารยังมีมาให้อย่างครบครัน ผิดหูผิดตาจากกระบะขนของแบบเดิมที่เราเคยเข้าใจว่าจะต้องไม่มีอะไร เพราะคนทำมาหากินคงไม่ได้เน้นสิ่งเหล่านั้น เป็นต้นว่า หน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว พร้อมระบบความบันเทิงและมีกล้องมองด้านหลังขณะถอยจอด ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ ดิจิทัล ปุ่มกดสตาร์ทเครื่องยนต์ รวมถึงพวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่น ซึ่งแค่นี้ก็มากพอเกินความคาดหวังในรถกระบะระดับนี้แล้ว
ตำแหน่งที่นั่งและความรู้สึกเมื่อได้นั่งอยู่หลังพวงมาลัยของรถกระบะคันนี้ให้ทัศนวิสัยที่ดีด้วยตำแหน่งที่นั่งคล้ายกัปตันบนเครื่องบิน ประกอบด้วยความสูงของตัวรถทำให้มองเห็นพื้นถนนและระยะของฝากระโปรงหน้าได้ชัดเจน
ข้อสังเกตนิดเดียวในรถกระบะคันนี้ คือ วัสดุที่เลือกมาใช้ทำเบาะที่นั่งเหมือนจะไม่รองรับสรีระเท่าที่ควร เพราะตลอดการเดินทางพบได้ว่ามีอาการเมื่อยเป็นระยะ ต้องหยุดพักเร็วกว่าปกติพอสมควร แต่ส่วนที่เหลือถือว่ารับได้ ส่วนจุดที่ชอบคือการเก็บเสียงภายในห้องโดยสารที่อยู่ในระดับดีอย่างน่าพอใจ ทำให้ตลอดการเดินทางฟังเพลงได้เพลินๆ ไม่ต้องมีเสียงยางหรือเสียงจากนอกตัวรถมาเบียดบังบรรยากาศแต่อย่างใด
ส่วนคันที่ โพสต์ทูเดย์ ได้ลองขับเป็นเครื่องยนต์ไมเวค คลีนดีเซล อะลูมินัม อัลลอย เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ขนาด 2.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 181 แรงม้าที่ 3,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 430 นิวตันเมตรที่ 2,500 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด พร้อมโหมดสปอร์ต
สมรรถนะชื่อชั้นในการตอบสนองถือว่าทำได้ดี รับรู้ได้ถึงสัมผัสของเครื่องยนต์ดีเซลที่มาช้าแต่มาหนักถอนคันเร่งแล้วรอบหาย แต่เมื่อไรที่เรียกมานั้นก็มาได้อย่างทันท่วงที ถือเป็นการนำความเป็นเอกลักษณ์และข้อบกพร่องมาพัฒนาความสัมพันธ์ไว้ได้อย่างลงตัว ทำให้ทุกย่านความเร็วสามารถตอบสนองได้อย่างสนุกสนานเร้าใจ ประกอบกับการที่ใส่โหมดสปอร์ตเข้ามาทำให้เมื่อไรที่อยากสั่งได้ดั่งใจ ก็ตบเกียร์ไปยังโหมดดังกล่าวนี้แล้วจากนั้นก็บังคับเกียร์ได้ด้วยตัวเอง
ด้านช่วงล่างและสมรรถนะการทรงตัวทำได้ดีพอประมาณ เป็นธรรมดาที่รับรู้ได้ถึงอาการ โดดเด้ง เร้าใจเพราะไม่มีน้ำหนัก บรรทุกอยู่ที่กระบะท้าย และถึงแม้จะกระโดดกระเด้งกระดอนก็ตามที แต่ความมั่นใจในประสิทธิภาพการเกาะถนนก็ไม่ได้ลดลงเลย ไม่มีอาการท้ายร่อนให้เห็น หากจับอาการได้ก็จะชินไปเองและคงไม่คิดว่าเป็นการกระด้างแต่อย่างใด รวมถึงความคล่องตัวด้วย รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.9 เมตร
มาถึงเทคโนโลยีที่ซ่อนอยู่ภายในรถกระบะคันนี้ อาทิ โครงสร้างตัวถังนิรภัย Rise Body พร้อมโครงสร้างนิรภัยเหล็กกล้า Super Frame ที่ใช้เหล็กแรงดึงสูง High Tensile Steel น้ำหนักเบาแต่ให้ความแข็งแรงสูงความหนา 2 ชั้น ไร้รอยต่อตลอดความยาวจึงช่วยป้องกัน การโค้งงอและการบิดตัว รองรับน้ำหนักการบรรทุกได้เป็นอย่างดี
สรุปความรวมด้วยหน้าตาที่ดูดีลงตัวขึ้น ประกอบกับการพัฒนาหน้าตาภายในห้องโดยสารที่ฉีกความเป็นกระบะขนของแบบเดิมๆ และสมรรถนะที่เต็มเปี่ยมทำให้เชื่อว่าใครที่กำลังมองหารถกระบะแบบตอนครึ่งสักคันที่สามารถรองรับการใช้งานได้หลากรูปแบบด้วยราคา 8.18 แสนบาท ถือว่าพอดีๆ อยู่เหมือนกัน
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ [14182 Views]
|