เรียกว่าเป็นหนึ่งในโมเดลแห่งความหวังสูงสุด นิสสัน คิกส์ ที่มากับเทคโนโลยีใหม่อย่าง อี-พาวเวอร์ (e-Power) แต่ต้องมาผจญกับวิบากกรรมหลายซับหลายซ้อนทั้งจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ต้องเลื่อนการเปิดตัวไปจนถึงการเลื่อนลงโชว์รูม จนถึงขั้นต้องบอกว่า ลูกค้าที่ยังรอซื้อคิกส์อยู่ นิสสันควรจะต้องดูแลเขาเหล่านั้นในระดับเทพ เพราะเขาคือ ลูกค้าที่มั่นใจในนิสสันอย่างหาที่สุดมิได้
สำหรับนิสสัน คิกส์ หลังเปิดตัวลงโชว์รูมและเริ่มส่งมอบเรียบร้อย สื่อมวลชนจึงได้มีโอกาสทดลองขับแบบทางยาวๆ ในลักษณะของการใช้งานจริง โดยก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสทดลองขับแบบสั้นๆ ในสนามปิดมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้จะแตกต่างออกไป เพราะเป็นการขับที่มีทั้งขึ้นและลงเขา แม้จะไม่ชันมากแต่เพียงพอต่อการนำเสนอในสิ่งที่ใครหลายคนอยากทราบ
แรงแบบไฟฟ้า
ทบทวนความเข้าใจเบื้องต้นของระบบ อี พาวเวอร์ ในนิสสัน คิกส์ กันสักเล็กน้อยก่อน ประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้หรือเถียงกันไม่จบคือ เจ้าระบบนี้แท้จริงแล้วคืออะไร เราขอทำความเข้าใจแบบนี้ โดยหลักการทำงานอธิบายแบบสั้นๆ คือ เอาเครื่องยนต์มาปั่นไฟ เพื่อนำกระแสไฟไปปั่นมอเตอร์ไฟฟ้า โดยที่เครื่องยนต์ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับระบบขับเคลื่อน
ซึ่งในความรู้พื้นฐานที่โลกนี้ถ่ายทอดกันมา เราจะเรียกลักษณะของการทำงานแบบนี้ว่า ไฮบริดแบบซีรี่ส์ ซึ่งก็จะตรงกับการยื่นขอสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐของนิสสัน ที่ทำภายใต้เงื่อนไขไฮบริด และตรงกับการเสียภาษีสรรพสามิต รวมถึงการจดทะเบียนระบุอัตราภาษีเป็นไฮบริด
ขณะที่นิสสัน เรียกนิสสัน คิกส์ว่าเป็นรถไฟฟ้าที่ไม่ต้องชาร์จไฟ ซึ่งถือว่าไม่ผิดแต่อย่างใด เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบคือ คิกส์ นั้นใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนชุดเดียวกับ นิสสัน ลีฟ รหัส EM57 แต่มีการปรับแต่งให้มีกำลังเหมาะสมกับการใช้งาน แต่จะต่างจากลีฟ ตรงที่ คิกส์ อี พาวเวอร์ ไม่ต้องหาที่ชาร์จไฟ เพราะมีเครื่องยนต์มาปั่นไฟไว้ให้แล้ว ดังนั้นแบตเตอรี่จึงทำให้มีขนาดเล็กลงได้ ไม่จำต้องใช้ขนาดใหญ่ ตัดปัญหาในเรื่องของการหาที่ชาร์จและระยะเวลาการชาร์จนาน รวมถึงน้ำหนักตัวที่มากของรถออกไปได้
ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเรียกแบบใด สุดท้ายขอให้วัดกันที่ประสิทธิภาพและการใช้งานว่าจะตอบโจทย์ได้ตรง กับความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่จะดีกว่า
ส่วนพิกัดกำลัง นิสสัน คิกส์ มากับกำลังสูงสุดจากมอเตอร์ไฟฟ้า 129 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 260 นิวตันเมตร ระบบส่งกำลังแบบเกียร์เดียว แบตเตอรี่ลิเธียมขนาด 1.57 kWh เครื่องยนต์ทำหน้าที่ปั่นไฟเพียงอย่างเดียว ขับเคลื่อนล้อหน้า
โหมดการขับขี่มีให้เลือก 3 แบบ Normal, Smart และ Eco อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 10 วินาที ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม อัตราบริโภคน้ำมันเคลมตามอีโคสติกเกอร์ 23.8 กม./ลิตร ขณะที่โหมดการขับแบบEV คือใช้ไฟฟ้าล้วน กรณีแบตเตอรี่เต็มจะวิ่งได้ระยะทางสูงสุดราว 5 กม. โดยเครื่องยนต์จะทำงานทันทีเมื่อแบตเตอรี่หลือปะจุไฟ 40%
ขับสนุกประหยัดเท่าอีโคคาร์
การขับในคราวนี้ จุดใหญ่ใจความของผู้เขียน คือการทดลองหาประสบการณ์การขับขี่แบบถนนจริง และหาคำตอบในเรือง Engine Brake ที่ยืนยันตามหลักการขับรถไฟฟ้าว่า ไม่มีเครื่องยนต์ช่วยเบรก แต่จะมีระบบ Regenerative Braking เข้ามาช่วยแทน ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าดีกว่าแน่นอน
เริ่มกันเรื่องของ Engine Brake จากการสอบถามหัวหน้าทีมวิศวกรผู้พัฒนาและทีมงานนิสสันทุกคน ยืนยัน ตรงกันว่า คิกส์ ไม่มี Engine Brake แต่จะมีระบบ Regenerative Braking ทำงานแทน โดยจะใช้มอเตอร์ช่วยหน่วงเวลา ที่รถขับลงทางลาดชันหรือลงเขา แล้วนำพลังงานจากการปั่นของล้อนั้นกลับมาเป็นไฟฟ้า เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งมีผลดีสองอย่างคือ ได้ทั้งการเบรก และไฟฟ้ามาใช้งาน
เจ้าของรถยนต์นิสสัน คิกส์ หลายท่านที่ได้รับรถไปแล้วและลองใช้งานจริง ด้วยการลองขับแบบลงเขา พบว่า เครื่องยนต์นั้นติดขึ้นในระหว่างที่ลงเขา ทำให้เข้าใจว่า นิสสัน คิกส์ นั้นมีการใช้เครื่องยนต์มาช่วยเบรก แต่ความจริงแล้ว ที่เครื่องยนต์ติดขึ้นมานั้นมีหน้าที่สำคัญอื่น ดังคำอธิบายต่อไปนี้
เมื่อคุณขับรถลงเขา ระบบ Regenerative Braking จะทำงานชาร์จไฟกลับเข้าไปในแบตเตอรี่ และเมื่อแบตเตอรี่ถูกชาร์จจนเต็มแล้ว จะเกิดปัญหาว่า ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการทำงานของระบบเบรก ดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ และเพื่อความปลอดภัยทำให้ไม่สามารถชาร์จเข้าแบตเตอรี่ต่อไปได้ จึงต้องหาทางให้พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวมีที่ไป
ดังนั้นทีมวิศวกรจึงได้ออกแบบให้ กระแสไฟฟ้าส่วนเกินนั้นถูกนำไปใช้งานโดยเครื่องยนต์แทน เพื่อให้ระบบ Regenerative Braking ทำงานและปั่นไฟต่อไปได้ (ช่วยชะลอรถเวลาลงเขาโดยไม่ต้องเหยียบเบรกตลอดเวลา) ทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่
จึงเป็นที่มาของ เครื่องยนต์ติดขึ้นเมื่อขับรถลงเขา อย่างไรก็ตาม การที่เครื่องยนต์ติดขึ้น จะไม่มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง แม้แต่หยดเดียว เพราะใช้ไฟฟ้าในการทำงานแทน คือกลับข้างการทำงานปกติที่ใช้เครื่องยนต์มาปั่นไฟนั่นเอง
ซึ่งในการขับคราวนี้มีเส้นทางขึ้นลงเขาแบบสั้นๆ และไม่ชันเพียงพอที่จะทดลองการทำงานของระบบดังกล่าวได้ แต่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า เมื่อขับคิกส์ลงเขา จะมีแรงหน่วงช่วยเบรก โดยไม่ต้องเหยียบเบรก ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ แม้จะไม่มี Engine Brake แต่ระบบ Regenerative Braking ช่วยทำงานแทนได้อย่างไม่แตกต่าง
อีกหนึ่งฟังก์ชันที่เราตั้งใจมาทดลองขับในคราวนี้คือ ระบบ One Pedal คือ ระบบที่ใช้แค่แป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องใช้แป้นเบรก ในการขับขี่ โดยระบบนี้จะทำงานได้ต้องเปลี่ยนมาใช้โหมด S หรือ ECO เท่านั้น
ลักษณะของการทำงานคือ ใช้การปล่อยคันเร่งแทนการเบรก โดยผู้ขับกะระยะเบรกเหมือนการเหยียบเบรก แต่ใช้การถอนคันเร่งแทน ซึ่งจะสะดวกมากหากใช้งานจนชินหรือขับขี่แบบในเมืองที่มีการจราจรติดขัด และไม่ต้องห่วงเมื่อระบบนี้ทำงานจะมีไฟเบรกที่ด้านท้ายติดขึ้นด้วย จึงสบายใจได้ในแง่ของความปลอดภัย
น่าห่วงเพียงอย่างเดียวคือ หากคุณใช้งานคันเร่งเดียว ในนิสสัน คิกส์ จนชินแล้วต้องไปขับรถคันอื่นที่ไม่มีระบบนี้ อาจจะลืมกดแป้นเบรกก็เป็นได้
ลีเจนเดอร์ ติดตั้งระบบช่วยขับ ระบบความปลอดภัย มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันการชนด้านหน้า ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน และรักษาช่องทางหากขับทับเส้นโดยไม่ได้เปิดไฟเลี้ยว โดยหลักการทำงาน ไม่ใช่แก้ที่พวงมาลัย แต่ใช้การเบรกแทน เช่น เมื่อเห็นว่ารถออกนอกช่องทางซ้ายโดยไม่ตั้งใจ ระบบจะเบรกที่ล้อขวา ถ้าออกทางขวา รถก็จะเบรกล้อซ้าย
สำหรับการขับขี่ทางยาวๆ รอบนี้ผู้เขียนขับรวดเดียว 300 กม. ความเร็วที่ใช้ส่วนมากอยู่ราว 100 กม./ชม. ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทีมงานสรุปข้อมูลให้ฟังเบื้องต้นว่า คิกส์จะมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อใช้งานที่ความเร็วระหว่าง 80-120 กม./ชม.
อัตราเร่ง ทั้งการออกตัวและเร่งแซง คิกส์ทำได้อย่างประทับใจ ไม่มีข้อตำหนิ ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการขับ รถยนต์ไฟฟ้า แต่จะมีแค่เพียงเมื่อกดคันเร่งหนักๆ จะมีเสียงเครื่องยนต์ดังเข้ามารบกวนในห้องโดยสาร หากขับแบบสบายๆ ไม่กดคันเร่งหนักเท้า หรือไม่ขับดัวยความเร็วสูง รถจะค่อนข้างเงียบดีทีเดียว
ความเร็วสูงสุดในการขับคราวนี้ เราลองวิ่งได้แตะที่ 165 กม./ชม. ซึ่งตามสเปคจะทำได้ 160 กม./ชม. ถือว่าปกติ เพราะเข็มไมล์ในรถจะอ่อนกว่าความเร็วจริงเล็กน้อย ขณะที่ขับด้วยความเร็วสูงแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่ประทับใจเราคือ ช่วงล่าง ให้ความรู้สึกมั่นใจ รถวิ่งนิ่ง ไม่มีการแกว่งหรือออกอาการลอยให้สัมผัสได้
นอกจากช่วงล่างที่โดดเด่นเป็นพิเศษแล้ว ยังมีเรื่องของพวงมาลัยที่ค่อนข้างเบามือ เหมาะกับคุณผู้หญิง ใช้งานได้อย่างสบาย ทัศนวิสัยชัดเจนทุกมุมมอง ส่วนการนั่งเบาะหลังทำได้ดีไม่น้อยหน้ารถในระดับเดียวกัน นั่งยาวๆ ได้โดยไม่ออกอาการเวียนหัว
สิ่งเดียวที่ผู้เขียนติงสำหรับนิสสัน คิกส์ คือ คุณภาพของวัสดุภายในห้องโดยสาร เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ในระดับเดียวกันที่จะเป็นวัสดุแบบสัมผัสนุ่ม Soft Touch กันเกือบหมดแล้ว แต่นิสสันเลือกใช้วัสดุร่วมกัน กับรถรุ่นอื่นๆ ของนิสสัน แม้ผู้เขียนไม่บอก เชื่อว่าทุกท่านทราบเป็นอย่างดีว่า คิกส์ ใช้วัสดุร่วมกับรุ่นใด
ด้านระบบเสริมความปลอดภัยใส่มาให้ครบในแบบที่ใช้งานได้จริง ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติหรือICC ใช้งานได้จริง แต่มีขีดจำกัดในเรื่องความเร็วและทางโค้งอยู่บ้าง
ส่วนอัตราการบริโภคน้ำมันช่วงระยะทาง 100 กม.แรก แบบมีการใช้งานในเมืองร่วมด้วยนั้น หน้าจอระบุตัวเลข 17.9 กม./ลิตร และเมื่อขับแบบทางยาวๆ มีเร่ง มีผ่อน ไปจนถึงที่หมายรวมระยะทาง 300 กม. หน้าจอระบุ 15.1 กม./ลิตร
เหมาะกับใคร
นี่คือเทคโนโลยีสำหรับการเปลี่ยนผ่าน ใครที่อยากลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าแต่กังวลเรื่องของที่ชาร์จไฟ นิสสัน คิกส์ จะตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุดที่สุด หรือคนที่ชอบขับรถเองอยากได้เอสยูวีขนาดเล็ก สมรรถนะเร่งทันใจ เกาะถนนหนึบ และประหยัดน้ำมันเท่าอีโคคาร์ คิกส์จะไม่ทำให้ผิดหวัง รวมถึงการใช้งานในเมืองเป็นหลัก คุณจะได้ความประหยัดที่มากกว่าขับทางยาวๆ ในราคาที่พอคบหาได้
ข้อมูลสเปค : NISSAN KICKS
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ [4384 Views]
|