คงไม่ต้องอธิบายกันให้ยืดยาวกับกระแสความนิยมรถคลาสสิกจากค่ายส้อมเสียง เมื่อกล่าวถึงโมเดลรุ่น ยามาฮ่า เอสอาร์400 ด้วยการยึดพื้นที่ในสายการผลิตมาอย่างยาวนานกว่า 35 ปี น่าจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ดี อยู่แล้วในระดับหนึ่ง
สำหรับความเป็นอมตะของตระกูลเอสอาร์เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับรถสไตล์เอ็นดูโร่ ในสังกัดเดียวกันอย่างเอ็กซ์ที 500 (XT 500) หรือเป็นรุ่นที่ใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนา โดยแรกเริ่มเดิม ทีมีผลิตรุ่น 500 และ 400 ออกวางจำหน่ายเคียงคู่กันเสมอมา จนกระทั่งเมื่อปี 2001 ยามาฮ่าตัดสินใจ ลดสายการผลิตลงเหลือขนาดพิกัดน้อยกว่าเพียงรุ่นเดียวที่ยังคงทำตลาดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่โฉมปีล่าสุดคันนี้ที่ ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง มีโอกาสทดลองขี่ หน้าตาการออกแบบยังคงเอกลักษณ์ ดั้งเดิมตั้งแต่ยุค 70 ซึ่งความโดดเด่นอยู่ที่การใช้ไฟหน้าดวงใหญ่กลมโต ขนาบข้างด้วยไฟเลี้ยวทรงกลม ทั้งสองด้าน ส่วนประกอบของอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ หลายชิ้นเป็นโครเมียมเงาวับ เบาะนั่งตอนเดียวขนาด ใหญ่สีทูโทนมาพร้อมที่จับกันตกสำหรับคนซ้อน ไฟท้ายรูปทรงโบราณสี่เหลี่ยมอยู่ตรงกลาง ระหว่างไฟเลี้ยวด้านหลัง
สำรวจออฟชั่นที่ติดตั้งในส่วนหน้าปัดแสดงสถานะความเร็วและรอบเครื่องยนต์เป็นแบบเข็มอนาล็อก ตัวปรับตั้งทริประยะทางใช้แบบหมุนไขลาน ระดับน้ำมันเชื้อเพลิงจากถังความจุ 12 ลิตร แม้ไม่ได้บอกค่าว่ามีเหลืออยู่เท่าไร แต่จะมีสัญญาณไฟเตือนให้ผู้ขี่รับทราบหากเหลือน้อยหรือประมาณ 2 ลิตร
ต่อเนื่องมาที่ตำแหน่งสวิตช์แฮนด์ฝั่งขวาใช้ควบคุมการเปิด-ปิด การทำงานของเครื่องยนต์ พร้อมสัญญาณไฟฉุกเฉิน ส่วนแฮนด์ฝั่งซ้ายใช้ควบคุมไฟสูง-ต่ำ ไฟเลี้ยว แตร และไฟขอทาง แต่เวลาใช้ต้องกดด้านหน้าไม่ใช่ด้านหลัง เหมือนรถสมัยใหม่ทั่วไป
ขณะเดียวกันโมเดลที่ทำตลาดในไทยมีการติดตั้งถังดักไอน้ำมันอยู่บริเวณด้านล่างฝั่งซ้ายของเครื่องยนต์ด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับสเปกที่ทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นแล้วอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ปรากฏ
ทั้งนี้ภาพรวมของตัวรถทั้งหมดแทบจะเหมือนยุคแรกในปี 1978 รวมถึงสิ่งสำคัญจะลืมไม่ได้ สำหรับจุดขายที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ การใช้ระบบสตาร์ทเท้าตั้งแต่เริ่มต้นทำตลาดจนถึงปัจจุบัน โดยมาพร้อมตัวช่วยสวิตช์ยกวาล์วอยู่ที่แฮนด์ฝั่งซ้าย หากดึงแล้วสามารถกดคันสตาร์ทเพื่อหามาร์ก สำหรับการสตาร์ทเครื่องยนต์ได้สะดวกขึ้น (เมื่อจับจังหวะได้แล้ว ตัวช่วยนี้ก็แทบไม่ได้ใช้)
อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นเอสอาร์คันที่ใช้การสตาร์ทด้วยมือ นั่นแสดงว่าเป็นการปรับแต่งติดตั้งเพิ่มเติม เข้าไปใหม่หลังออกจากโรงงานมาแล้วอย่างแน่นอน
ว่ากันที่สมรรถนะการขี่กันบ้าง เริ่มจากท่านั่ง ตำแหน่งการวางเท้า ความสูงของแฮนด์บังคับ ทุกส่วนอยู่ในระดับพอดีที่ให้ความสบายแก่ผู้ควบคุม เช่นเดียวกับระบบช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบเทเลสโคปิก ด้านหลังโช้กอัพคู่สามารถปรับค่าความแข็งของสปริงได้ โดยทั้งหน้าและหลังเซตมาค่อนข้างนุ่ม เน้นการใช้งานที่ไม่ต้องการความเร็วมากนัก สอดคล้องกับวงล้อรอบคันขนาด 18 นิ้ว ที่ใช้ระบบเบรกหน้า แบบดิสก์ หลังดรัม รับมือได้ดีไม่มีปัญหา สำหรับการขี่แบบชิลๆ ตามสไตล์รถแนวเรโทร
ส่วนของขุมพลังเครื่องยนต์ 4 จังหวะ SOHC สูบเดียว ขนาดความจุ 399 ซีซี. ระบายความร้อนด้วยอากาศ ระบบจ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีด ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ 5 สปีด ให้กำลังสูงสุด 26 แรงม้าที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 29 นิวตัน-เมตรที่ 5,500 รอบต่อนาที อัตราเร่งมาเร็วทันใจ การส่งกำลังไหลลื่น ต่อเนื่องไม่มีสะดุด แม้ช่วงรอบสูงจะรู้สึกถึงแรงสั่นสะท้านจากเครื่องยนต์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถือว่าน่าเกลียด เพราะเป็นเรื่องปกติของรถสูบเดียวพิกัดระดับนี้อยู่แล้ว
สำหรับความเร็วที่เหมาะสมในการใช้งานอยู่ระหว่าง 60-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ยามาฮ่าเคลมอัตราประหยัด น้ำมันเชื้อเพลิง 41 กิโลเมตร/ลิตร ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ซึ่งเผื่อไว้ในจังหวะเร่งแซง ขณะที่ความเร็วในการทดลองขี่ครั้งนี้ เกียร์ห้า รอบเครื่อง 4,500 รอบต่อนาที ความเร็วอยู่ที่ 100 กม./ชม.
ท้ายที่สุดหากเปรียบการซื้อบิ๊กไบค์สักคันเหมือนกับของเล่นเพื่อแลกความเร้าใจ การเลือกควักจ่ายเงิน 265,000 บาท ให้กับบิ๊กไบค์แนวคลาสสิกนำเข้าจากแดนปลาดิบคันนี้ก็คงเหมือนซื้อของสะสม ซึ่งเน้นความสวยงามมีคุณค่าดั่งงานศิลปะที่อยู่เหนือกาลเวลา
ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองและการตัดสินใจ แต่ไม่ว่าจะเลือกอย่างไหนก็ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลเหมือนกัน
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ [18156 Views]
|