ค่ายสองล้อสีแดงจากอิตาลีรุกตลาดบิ๊กไบค์ตั้งแต่ต้นปี ด้วยการจัดกิจกรรมทดสอบโมเดลใหม่ล่าสุด ดูคาติ สแครมเบลอร์ (Ducati Scrambler) แถวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยมีสื่อมวลชนไทยเป็นกลุ่มแรกที่ได้ลองขับขี่ในรอบ Press Ride Asia
แน่นอนว่าก่อนการสัมผัสสมรรถนะตัวรถทุกครั้ง ค่ายเจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องอธิบายถึงที่มาที่ไป แนวคิดการพัฒนา รวมทั้งความโดดเด่นของรุ่นโมเดลที่นำมาให้ลองขี่กัน ซึ่งในครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งอื่นๆ เพราะมีทีมที่ควบคุมดูแลโปรเจกต์ สแครมเบลอร์ บินตรงจากเมืองโบโลญญ่า ประเทศอิตาลี มาให้ข้อมูลกันถึงที่เลยทีเดียว
สำหรับจุดกำเนิดของสแครมเบลอร์ แจ้งเกิดครั้งแรกในปี 1962 แต่ระยะเวลาการทำตลาดขาดช่วงไปตั้งแต่ปี 1975 ขณะที่การกลับมาอีกครั้งในยุคนี้เป็นเพราะค่ายดังจากแดนมักโรนีต้องการแตกไลน์ขยายแบรนด์ หวังเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มเดิมหรือผู้ที่ไม่เคยขี่บิ๊กไบค์มาก่อน โดยอาศัยจุดขายของ การเป็นโมเดลที่มีเรื่องราวและประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ผ่านแนวคิดการออกแบบให้เป็นรถใช้งาน ได้เอนกประสงค์ เข้าถึงง่าย ให้อารมณ์ความสนุกขณะขับขี่ หน้าตามีเอกลักษณ์ ไม่ใช่รถวินเทจแบบย้อนยุค แต่มีความโดดเด่นแบบร่วมสมัย และที่สำคัญเจ้าของสามารถเล่นกับมันได้
Pierfrancesco Scalzo ผู้จัดการทั่วไปภูมิภาคเอเชีย ดูคาติ มอเตอร์ (ประเทศไทย) มาเล่าเรื่องราว
โดยวิธีการเล่นในที่นี้หมายถึงการแต่งหล่อต่อเติมไอเดียต่างๆ ใส่เข้าไปในตัวสแครมเบลอร์ หากกล่าวอีกมุมหนึ่ง มันก็เหมือนกับการได้แสดงตัวตนของผู้ขับขี่ หรือสะท้อนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ของผู้ครอบครองด้วยนั่นเอง และสำหรับประเด็นนี้จึงเป็นที่มาของการผลิตอุปกรณ์ตกแต่งที่หลากหลาย พร้อมกับเสื้อผ้าเครื่องประดับภายใต้แบรนด์เดียว กับชื่อรุ่นรถ โดยหวังใช้เป็นเครื่องมือไปกระตุ้นต่อม ความอยากให้ลูกค้ารู้สึกสนุก กับการแต่งองค์ทรงเครื่อง ทั้งกับตัวเองและของเล่นชิ้นใหม่คันนี้
ขณะเดียวกันการเปิดตัวรุ่นย่อยออกมาพร้อมกันถึง 4 รุ่น ประกอบด้วย Icon (สีแดง 369,900 บาท สีเหลือง 374,900 บาท), Urban, enduro, Classic และ Full Throttle (สามรุ่นหลังราคาเท่ากัน 419,900 บาท) ส่วนหนึ่งคงเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า โมเดลที่กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งสามารถปรับแต่งทำ ศัลยกรรมออกมาได้หลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับรสนิยมและวัตถุประสงค์ของการขับขี่ด้วย
ทั้งนี้นอกจากความเป็นมาแล้ว ด้านการออกแบบก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยดีไซน์เนอร์ส่งตรง จากอิตาลีอธิบายว่า หน้าตาโดยรวมใช้แม่แบบของยุคเริ่มต้นเป็นส่วนใหญ่ พร้อมยึดหลักความเรียบง่าย แต่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ สิ่งที่ชัดเจนคือการใช้ไฟหน้าดวงกลมโต ถังน้ำมันทรงหยดน้ำ เบาะนั่งชิ้นเดียวขนาดกะทัดรัด ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างระบบไฟหน้าและท้าย LED เรือนวัดความเร็วบอกสถานะต่างๆ แบบดิจิตอล ตลอดจนการใช้วัสดุอลูมิเนียมมาช่วยลดน้ำหนักตัวรถ
Julien Clement ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์มาวาดภาพให้ชมกันสดๆ
ขณะที่ขุมพลังเครื่องยนต์เลือกใช้บล็อกเดียวกับมอนสเตอร์ 796 แบบ L-Twin 2สูบ ขนาด 803 ซีซี. ระบายความร้อนด้วยอากาศ ส่งกำลังใช้ชุดเกียร์ 6 สปีด แต่ปรับแต่งบุคลิกให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งาน ด้วยการปลดปล่อยความแรงลดลงนิดหน่อย โดยให้กำลังสูงสุด 75 แรงม้า ที่ 8,250 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 68 นิวตัน-เมตร ที่ 5,750 รอบต่อนาที
สำหรับการขับขี่ทดสอบเป็นระยะทางรวมเฉียด 170 กิโลเมตร ด้วยรุ่น Icon โดยใช้ความเร็วเฉลี่ยตลอด ทริปประมาณ 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในด้านสมรรถนะความเร้าใจยังคงดุดันเช่นเคยตามสไตล์ดูคาติ แถมลดความกระด้างของแรงบิดในรอบต่ำให้มีความเรียบเนียนมากขึ้น เพื่อการควบคุมที่เชื่องมือสำหรับ นักบิดหน้าใหม่ ส่วนท่านั่งให้สัมผัสถึงความสบาย ผ่อนคลายและไม่เครียด ด้วยช่วงแฮนด์บังคับที่อยู่สูง แม้การควบคุมจะไม่ถึงกับคล่องตัวมากนัก แต่ก็ประทับใจในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากมองกันที่จุดเด่น ต้องยกให้อัตราเร่งในจังหวะแซงรถคันหน้าทำได้ฉับไวไร้กังวล เพราะเครื่องยนต์สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วทันใจ อีกทั้งการใช้สเตอร์หลังขนาดใหญ่ถึง 46 ฟัน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมการส่งกำลังแรงบิดได้เป็นอย่างดี แต่อย่าเผลอกระแทกคันเร่งแรงเกินไปเชียวล่ะ ล้อหน้าอาจจะยกลอยได้แบบไม่รู้ตัว
ส่วนระบบช่วงล่างด้านหน้าเซตมากลางๆ กำลังดี แต่ด้านหลังรู้สึกค่อนข้างแข็งไปหน่อย และจุดนี้จะไม่แปลกใจถ้าเป็นรุ่นอื่นๆ ในสังกัด ซึ่งเน้นการขับขี่แบบสปอร์ต แต่เมื่อเทียบกับบุคลิก ของรถที่เน้นท่าขี่สบายแถมมุ่งเจาะกลุ่มมือใหม่ อาจจะดูขัดแย้งกันไปหน่อย ขณะที่ระบบเบรกแปลกตา กับการใช้ดิสก์เดี่ยวในด้านหน้า เพราะปกติรถพิกัดขนาดนี้เราจะเห็นใช้ดิสก์คู่ แต่การชะลอความเร็ว ในทริปทดสอบครั้งนี้ก็เอาอยู่ และคาดว่าการใช้งานจริงบนถนนก็คงไร้ปัญหาด้วยเช่นกัน
เมื่อรวมข้อมูลที่ได้รับพร้อมกับการสัมผัสสแครมเบลอร์ตัวเป็นๆ ด้วยตัวเอง กล่าวโดยสรุปต้องยกนิ้วให้ ดูคาติที่กล้าสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ แม้ว่าภาพลักษณ์และรูปโฉมอาจจะดูหน่อมแน้มไปหน่อย เมื่อเทียบกับโมเดลอื่นๆ ในค่าย ทว่าในแง่อรรถรสความสนุกของการขับขี่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่รับได้
ขณะที่การเสริมสิ่งเร้าด้วยอุปกรณ์ตกแต่งซึ่งออกแบบเองไม่ซ้ำใคร หวังหลอมรวมความสนุกของการขี่รถ และรูปแบบการใช้ชีวิตเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน นับเป็นลูกเล่นที่เข้าท่า แต่ว่าการสื่อสารไปหากลุ่มลูกค้า ยังไม่มีใครรู้ว่าเป้าหมายจะรู้สึกอินไปด้วยขนาดไหน
หากโดนใจ เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จกวาดยอดขายถล่มทลายเหมือนครั้งอาเซียนโมเดลได้ไม่ยาก
แต่ถ้าตรงกันข้าม ทีมวางแผนการตลาดคงต้องทำการบ้านกันอีกหลายรอบ!
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ [11683 Views]
|