ปรากฏการณ์จองซื้อรถรอนานข้ามปี! ซึ่งเกิดจากความต้องการของผู้บริโภคที่ล้นตลาด ไม่ว่าจะมาจากมีรถรุ่นใหม่เปิดตัวมาก และโดยเฉพาะโครงการ รถคันแรกรับภาษีคืน 1 แสนบาทของรัฐบาล จนบริษัทรถแทบจะผลิตได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย มีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานรัฐ หรือในสังคมออนไลน์ จากการผิดเงื่อนไขสัญญาของผู้แทนจำหน่าย และเรื่องนี้นับวันจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะล่าสุดมีผู้ขอใช้สิทธิ์เพิ่มต่อเนื่อง ทะยานพุ่งเป็นเท่าตัว หรือสัปดาห์ละ 1 หมื่นคัน และคาดว่าช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ ยิ่งจะวุ่นวายกันใหญ่ เพราะเป็นเดือนสุดท้ายของโครงการ ดังนั้น ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง จึงขอนำเสนอ เคล็ด(ไม่)ลับ...วิธีออกรถใหม่ ทั้งเรื่องสัญญาจอง เช่าซื้อ และวิธีตรวจสอบก่อนรับรถ เพื่อที่หากทำถูกต้องก็เป็นยันต์ ในการปกป้องสิทธิ์และเรียกร้องความรับผิดชอบได้ หากเกิดปัญหาตามมา
รักษาสิทธิในสัญญาจองรถ
เรื่องของสัญญาเป็นสิ่งสำคัญ และผู้ซื้อรถจะต้องตรวจสอบสัญญา ไม่ว่าจะเป็นสัญญาจอง สัญญาซื้อ-ขาย หรือสัญญาเช่าซื้อให้รอบคอบถูกต้อง เพราะคณะกรรมการ ว่าด้วยสัญญา ออกประกาศ กำหนดให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจอง เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2551 เพื่อป้องกันปัญหาการหลอกลวง หรือเอาเปรียบผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสคบ. ในฐานะองค์กรที่ดูแลและช่วยเหลือผู้บริโภค แม้จะพึ่งได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็เป็นอีกช่องทางช่วยปกป้องสิทธิ์และประโยชน์ของผู้บริโภค ได้ยึดสัญญาเป็นหลักในการดูแลเรื่องรถยนต์ใหม่
เหตุนี้ทางกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ของสคบ. จึงได้ออกบทความ รักษาสิทธิ์การจองเป็นเจ้าของรถยนต์ใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคพิจารณาสัญญาจองรถยนต์ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสามารถเรียกร้องหรือฟ้องเอาผิดกับผู้ให้บริการได้ ซึ่งจะต้องมีสาระและเงื่อนไขสำคัญในสัญญา คือ อันดับแรกเป็นรายละเอียด ของรถยนต์ที่จะซื้อ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ, รุ่น, ปีที่ผลิต, สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติม และของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ(ถ้ามี) จำนวนเงินจอง หรือมัดจำ และราคาขาย
สิ่งสำคัญอีกอย่างเป็นเรื่องของกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ และให้สิทธิ์ผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาได้ทันที หากผู้ขายได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปรับเปลี่ยนราคาสูงขึ้น ไม่ส่งมอบรถภายในกำหนด หรือส่งมอบรถไม่ตรงตามรายละเอียดยี่ห้อ, รุ่น, ปี, สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ หรืออุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มและของแถม ตามสัญญา เป็นต้น ซึ่งเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ขายจะต้องคืนเงินจองให้แก่ผู้บริโภคภายใน 15 วัน
นอกจากนี้ประกาศดังกล่าว ยังห้ามผู้ขายยกเว้น หรือจำกัดความรับผิดชอบที่เกิดจากสัญญาของผู้ขาย หรือห้ามให้ผู้ขายเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลา ส่งมอบรถ หรือเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญา และห้ามผู้ขายบอกเลิกสัญญากับผู้บริโภค ที่ไม่ได้ผิดสัญญาด้วย หากผู้บริโภคพบสัญญาจองที่ขาดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด จะถือว่าเป็นสัญญาที่ผิดกฎหมาย ผู้ขายจะต้องรับโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รอบคอบสัญญาเช่าซื้อรถ
หากการจองและรับมอบรถไม่มีปัญหา ย่อมมาถึงขั้นตอนทำสัญญาซื้อ-ขาย และจ่ายเงิน แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะได้ครอบครองผ่านการซื้อเงินผ่อน ทำให้ต้องทำสัญญาเช่าซื้อรถกับบริษัทไฟแนนซ์ ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา กำหนดให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 สำหรับรายละเอียดบางส่วนในประกาศ ซึ่งมีประโยชน์ต่อท่านนั่นมีสาระสำคัญ ดังนี้...
เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญา กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที และให้ดำเนินการจดทะเบียน ให้เป็นชื่อของผู้เช่าซื้อภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันได้รับเอกสารที่จำเป็นสำหรับจดทะเบียน เว้นแต่เหตุที่ไม่ใช่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ และในกรณีผู้เช่าซื้อ มีความประสงค์จะขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว โดยไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายงวดตามสัญญาเช่าซื้อ เพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
ผู้ให้เช่าซื้อ(ไฟแนนซ์) มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าว ผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้น ภายในเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและละเลยเสียไม่ปฏิบัติตาม โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องส่งคำบอกกล่าว ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ให้แก่ผู้เช่าซื้อตามที่อยู่ที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ หรือที่อยู่อาศัยที่ผู้เช่าซื้อแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือเป็นครั้งล่าสุด และผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับทวงถามติดตามรถ ค่าทนายและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องด้วยการผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ
วิธีตรวจสอบก่อนรับรถ
แน่นอนเมื่อกระบวนการจองซื้อ และทำสัญญาต่างๆ ผ่านไปด้วยดี และถึงวันรับมอบส่งรถ ปัญหายังไม่หมดจนกว่าจะตรวจสอบรถที่ได้รับส่งมอบ มีคุณภาพและตรงตามความต้องการหรือไม่ ซึ่งสคบ.ได้มีหลักเกณฑ์ในการ เตรียมความพร้อมก่อนรับรถ มาให้ผู้บริโภคนำไปตรวจสอบเช่นกัน
อันดับแรกเป็นการตรวจสอบภายนอก เริ่มตั้งแต่ตัวถังที่ดูขอบสันข้างรถว่าแนวตรงดีหรือไม่ โดยเฉพาะระหว่างประตูและตัวถัง เปิด/ปิดประตูครบทุกบาน รวมทั้งกระโปรงหน้า-หลังให้ดี อย่าละเลยที่ล็อคประตูหลัง และสังเกตมีสนิมบริเวณขอบประตูหรือไม่ เห็นรอยสีใหม่พ่นทับสีเก่าในบริเวณขอบประตู ถ้ามีขอบยางกันกระแทบลองแง้มดูด้วย (ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง ขอเสริมควรตรวจสอบสีรถในร่ม)
ในส่วนกระจกไฟฟ้าควรดูพิเศษว่า กระจกมีรอยร้าว กะเทาะหรือไม่ เพราะจะนำไปสู่การแตกง่ายในอนาคต ลวดละลายฝ้ากระจกหลังใช้ได้ และกระจกมองข้างปรับได้ตามปกติ/พับอย่างไร ขณะที่สวนของเนื้อยางล้อ จะต้องนิ่มพอสมควร ปียางที่ผลิต ยางล้อมีรายบิ่นหรือไม่ สภาพกระทะล้อ มีแม่แรง/ล้ออะไหล่/ประแจ/เครื่องมือประจำรถครบหรือไม่
ต่อมาตรวจสอบภายในห้องโดยสาร อุปกรณ์ต่างๆ มีรอยขูดขีด บุบแตกหรือไม่ มาตรวัดหลักใช้งานได้ครบ บิดกุญแจรถสวิตช์ ON (ยังไม่บิดสตาร์ท) ตรวจดูไฟเตือนที่หน้าปัดขึ้นครบถ้วนหรือไม่ เบาะปรับได้ถูกต้อง เข็มขัดนิรภัยลองกระตุกดูว่าล็อกหรือไม่ ตรวจสอบกุญแจรีโมต/เซนทรัลล็อค/วิทยุติดรถ /ทดสอบเครื่องปรับอากาศ โดยเปิดไล่ระดับแรงลมทุกระดับ ดูว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ เปิดและตรวจสอบยางปัดน้ำฝน ที่ปัดน้ำฝน และที่ฉีดนำล้างกระจก รวมถึงลวดละลายฝ้ากระจกหลังใช้งานได้ดีหรือไม่ ตรวจสอบไฟเบรกดวงที่สาม และเบรกมือ ตรวจเช็กสัญญาณเตือนไฟเปิด/ปิดประตู และระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสูง ไฟหน้า และไฟหรี่ เปิดติดปิดดับสว่างชัดเจน ไฟเลี้ยวใช้ได้ทั้ง 2 ข้าง และลองกดปุ่มไฟฉุกเฉินว่ากะพริบสองข้างไหม ไฟเบรกและไฟถอยหลังปกติหรือไม่
ส่วนกลไกการขับเคลื่อน เริ่มจากภายในห้องเครื่องดูน้ำมันเบรก/ น้ำมันเครื่อง/น้ำมันเกียร์/น้ำมันพวงมาลัยพาวเวอร์ /สายพานต่างๆ/น้ำในหม้อน้ำ +หม้อพัก/กระบอกน้ำฉีดกระจก/น้ำกลั่นแบตเตอรี่ และควรถามให้รู้ว่าอยู่ตรงไหน จากนั้นลองสตาร์ทเครื่องฟังเสียงดู เร่งเครื่องเพื่อดูว่าเครื่องยนต์เดินเรียบหรือไม่ ความร้อนไม่สูง และเกียร์ธรรมดาเข้าได้ครบ หรือเกียร์อัตโนมัติให้ดูไฟบอกตำแหน่งที่แป้นเกียร์ หรือหน้าปัด เกียร์ไม่หลวม หรือมีเสียงดังเวลาเข้าเกียร์ใด เกียร์หนึ่ง คลัตช์ไม่แข็งหรือระยะตื้นจนเกินไป พวงมาลัยไม่มีเสียงดังเวลาเลี้ยว เวลาปล่อยจากพวงมาลัยแล้วรถยังวิ่งตรงในระดับที่ถูกต้อง
สำหรับเอกสารต่างๆ ต้องตรวจว่ามีสมุดทะเบียน/ใบโอนรถ/เอกสารประกันภัย พ.ร.บ./ใบเสร็จรับเงิน/ใบเสร็จค่ามัดจำป้ายแดง/สมุดคู่มือป้ายแดง /ตรวจสอบมีตรา ขส. บนป้ายแดง เพื่อจะทราบเป็นของจริงไม่/คู่มือรถ/เอกสารการรับประกันอุปกรณ์รถและเช็ครถฟรี รวมทั้งของแถมต่างๆ ตามที่ผู้ขายตกลงกันไว้
คำแนะนำใหม่รถคันแรก
อย่างที่บอกตอนนี้เริ่มเห็นความต้องการใช้สิทธิขอเงินภาษีคืน 1 แสนบาทกันแล้ว เพราะจากตัวเลขเริ่มต้น สัปดาห์ละไม่กี่ร้อยกี่พันคัน เพิ่มพรวดเป็นหมื่นคัน และตอนนี้มีคนแห่ยื่นขอใช้สิทธิ์ถึง 1.45 แสนคัน
เหตุนี้เดิมตามโครงการจะต้องซื้อหรือจองรถ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 และจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โดยให้ยื่นเอกสารหลักฐานที่ปรากฏในคำขอใช้สิทธิ์ฯ ทั้งหมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม2555 ซึ่งย่อมต้องไม่สามารถดำเนินการได้หมด คณะรัฐมนตรีจึงมีมติล่าสุดให้จองรถได้ภายใน 31 ธันวาคม 2555 เหมือนเดิม แต่ขยายระยะเวลาส่งมอบไม่มีกำหนด
เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีล่าสุด กรมสรรพสามิตจึงมีคำแนะนำประชาชน ในการยื่นขอใช้สิทธิ์ฯ กรณีใหม่ดังกล่าว สำหรับผู้ซื้อหรือจองรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม 2555 และรับมอบรถยนต์หรือจดทะเบียนไม่ทันภายใน 31 ธันวาคม 2555
ขั้นตอนที่ 1 ยื่นคำขอใช้สิทธิ์ และเอกสารต่างๆ ดังนี้ สำเนาบัตรประชาชน(ผู้มีสัญชาติไทย) สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ(ถ้ามี) สำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ขอใช้สิทธิ์ฯ (แต่เพียงผู้เดียวและต้องเป็นธนาคารพาณิชย์ในประเทศเท่านั้น) และใบจองรถยนต์ (ชื่อผู้ซื้อที่ระบุไว้ในใบจองรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จะต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ซื้อรถยนต์ที่ยื่นขอใช้สิทธิ์ฯ ) โดยให้ยื่นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555
ขั้นตอนที่ 2 นำเอกสารหลักฐานนอกจากที่กล่าวมาในขั้นตอนที่ 1 ซึ่งมีหนังสือยินยอมสละสิทธิ์การโอนรถยนต์ใหม่คันแรก สำเนาหลักฐานการซื้อขายรถยนต์ ได้แก่ กรณีการซื้อเงินสด จะต้องนำสำเนาใบเสร็จรับเงินหรือสำเนาสัญญาซื้อขาย สำเนาเอกสารการรับมอบรถยนต์ และกรณีเช่าซื้อ ต้องมีสำเนาใบเสร็จรับเงิน สำเนาเอกสารการรับมอบรถยนต์ และสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ พร้อมกับต้องมีหลักฐานสำเนาคู่มือจดทะเบียนมายื่นเพิ่มเติม ภายในระยะเวลา 90 วัน นับถัดจากวันรับมอบรถยนต์
ทั้งนี้ หากผู้ขอใช้สิทธิ์ฯ ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ มายื่น ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สาขา ภายในระยะเวลากำหนด ให้ถือว่าผู้ขอใช้สิทธิ์ฯ ไม่ประสงค์จะขอรับเงินคืนตามโครงการรถยนต์ใหม่คันแรก และจะเรียกร้องสิทธิ์ฯ และค่าเสียหายใดๆ กับทางราชการไม่ได้
สำหรับผู้จองก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 และยังไม่ได้รับมอบรถหรือจดทะเบียน ภายในระยะเวลากำหนด ให้ยื่นตามกรณีใหม่ได้เช่นกัน หรือผู้ต้องการใช้สิทธิ์สามารถเข้าไปดูรายละเอียด และดาวน์โหลดแบบฟอร์มต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์กรมสรรพสามิต http ://www.excise.go.th
แม้คณะรัฐมนตรีเลื่อนกำหนดวันส่งมอบ หรือจดทะเบียนรถให้เช่นนี้ ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง ขอเตือนว่าอย่าชะล่าใจ เพราะงบอุดหนุนโครงการนี้มีประมาณกว่า 3 หมื่นล้าน หรือประมาณ 5 แสนคันเท่านั้น เรียกว่า... มาก่อนได้ก่อน!!
ทั้งหมดเกี่ยวกับการยื่นขอใช้สิทธิ์ฯ โครงการรถคันแรก รวมถึงขั้นตอนการซื้อรถ อาจจะดูวุ่นวายหน่อย แต่การตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการทำสัญญาต่างๆ หรือก่อนรับรถ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้สามารถเรียกร้องสิทธิ์ตามกฎหมายได้ หรือดีกว่าไปตรวจพบความเสียหาย ในภายหลัง มันจะยุ่งและแก้ไขลำบากกว่าเสียอีก!!...แต่ถ้ามีปัญหาจะร้องเรียนและให้สคบ.ช่วยเหลือ หรือขอรับคำแนะนำปรึกษา เข้าไปได้ที่ http://www.ocpb.go.th
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
|