ท่ามกลางกระแสการขี่บิ๊กไบค์ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากการรุกตลาดลงทุนเปิดไลน์ประกอบขึ้น ในบ้านเรา ทั้งจากยี่ห้อดังฝั่งยุโรปและแบรนด์คุ้นเคยจากประเทศญี่ปุ่น หลายคนที่กระเป๋าเงินหนา เลือกซื้อรถใหม่เพื่อตัดปัญหาจุกจิก ทว่ายังมีนักบิดอีกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการทางเลือกมากกว่า รถที่มีจำหน่ายโดยบริษัทผู้ผลิต อีกทั้งมองว่าไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นกับรถใหม่เสมอไป ทำให้ตลาดบิ๊กไบค์มือสอง ดูจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่จะมีวิธีการเลือกซื้ออย่างไรไม่ให้โดนหลอก ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง จึงนำกูรูในแวดวงบิ๊กไบค์เมืองไทย...วิกรม มนตรีโชค ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ออโต้เซ็นเตอร์ การประมูล จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ประกอบการนำเข้ารถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ในชื่อ เรดบารอน มาเผยวิธีการเลือกบิ๊กไบค์มือสองกันอย่างละเอียด...
เอกสารถูกต้อง เลขคอ-เครื่องตรงเล่ม
อันดับแรกการเลือกซื้อบิ๊กไบค์มือสอง ไม่ได้ดูที่ตัวรถแต่ให้ดูที่เอกสาร อย่างที่ทราบกันว่า รถที่จำหน่ายตอนนี้มีหลายรูปแบบ บางคันมีแต่เอกสารอินวอย บางคันเสียภาษีสรรพสามิตมาแล้ว หรือบางคันไม่มีเอกสารอะไรกำกับมาเลย ในที่นี้ขออนุญาตกล่าวถึงรถที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องและสามารถวิ่งบนถนนได้โดยไม่ผิดกฏหมายเท่านั้น
สำหรับรถที่จะซื้อให้ดูที่เลขคอและเลขเครื่องว่า ตรงกับคู่มือจดทะเบียนในเล่มหรือไม่ และที่สำคัญเลขคอหรือเลขเฟรมต้องตรงกับรุ่นของรถคันนั้นด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจผู้ซื้อต้องศึกษาข้อมูลมาก่อนบ้างพอสมควร นอกจากลักษณะนิสัยของตัวรถแล้ว ต้องรู้ด้วยว่ามีเลขเฟรมรหัสอะไร เพราะโมเดลนัมเบอร์นี้ไม่มีทางหลอกกันได้ หรือแม้เห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ยังต้องดูอีกว่ามีการตอกทับตัวเลขมาด้วยหรือไม่
รถสีเดิมจากโรงงาน
ต่อมาดูที่สีตัวรถว่าเป็นสีเดิมๆ จากโรงงานหรือว่าผ่านการทำสีมาใหม่ อย่างน้อยถ้าเป็นสีเดิม แสดงว่ารถคันนี้อาจจะไม่เคยเกิดอุบัติเหตุมาก่อนก็ได้ เพราะส่วนมากรถที่มีร่องรอยการเกิดอุบัติเหตุจะใช้การทำสีใหม่ เนื่องจากถ้าเปลี่ยนอะไหล่อย่างชุดแฟริ่งต้องใช้เงินประมาณหลักหมื่นบาท แต่การทำสีใหม่ใช้แค่หลักพันบาท
ส่วนวิธีการดูง่ายๆ คือ สติ๊กเกอร์ตรงชุดแฟริ่งจะอยู่บนแล็กเกอร์ ไม่ได้อยู่ใต้แล็กเกอร์ ถ้าเอามือลูบจะรู้สึกสะดุด ไม่เหมือนการซ่อมสีเฉพาะจุดที่จะพ่นแล็กเกอร์ทับไว้อีกชั้น อีกอย่างถ้าเป็นรถรุ่นเก่าๆ พวกลายสีจะเป็นลายสติ๊กเกอร์ไม่ใช่ลายสีพ่น แต่หลักการดูนี้ทุกคนรู้กันหมด ปัจจุบันจึงมีพวกทำสีเสร็จแล้วค่อยเบิกสติ๊กเกอร์มาปิดทับก็มี แต่อย่างน้อยถ้าเลือกได้ขอเป็นสีเดิมไว้ก่อน รวมถึงชุดแฟริ่งอย่าให้มีรอยแตกหักหรือผ่านการซ่อมแซมมาแล้ว
เครื่องยนต์เดินเรียบเสียงไม่สะดุด
สำหรับการพิจารณาเครื่องยนต์ค่อนข้างลำบาก ถ้าไม่ได้ใช้เครื่องมือตรวจสอบ คงต้องอาศัยการฟังเสียง ลองสตาร์ทเครื่องฟังเสียงรอบเดินเบาว่าไม่สะดุด ถ้าเป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ ประมาณ 1,200 รอบต่อนาที อาจจะมีสวิงขึ้นลงบ้างแต่ไม่มาก และลองบิดคันเร่งเล็กน้อย สังเกตุว่ามีเสียงดังผิดปกติหรือไม่ กรณีรถที่แคมชาร์ฟละลายมาก่อน เวลาเครื่องเดินเบาก็ไม่ค่อยได้ยิน แต่ถ้าเร่งเครื่องมันจะดัง สะท้านขึ้นมาและรู้ทันทีว่าเครื่องมีปัญหาแน่นอน
ทั้งนี้ ใช่ว่ารถทุกคันเครื่องจะเงียบ ในแต่ละยี่ห้อหรือรถบางรุ่นเสียงก็ดังมาตั้งแต่เกิด หากไม่ใช่คนที่คุ้นเคยและคลุกคลีกับรถมาบ่อยๆ ก็ไม่รู้ ถ้าจะอาศัยฟังเสียงเครื่องอย่างเดียว ด้วยความที่เป็นมือใหม่อาจจะลำบาก เอาเป็นว่าบิดคันเร่งไปแล้ว เสียงเครื่องจะสมูท ไม่มีเสียงแปลกปลอมที่ดังขึ้นมาก็ถือว่าใช้ได้
ขณะเดียวกัน ต้องดูปลายท่อไอเสียประกอบด้วย ถ้ารถวิ่งมาเยอะเครื่องอาจจะเริ่มหลวม ทำให้มีน้ำมันเครื่องเข้าไปในกระบอกสูบและเผาไหม้ไม่หมด มันจะสะสมเกาะตัวอยู่ที่ปลายท่อ ลักษณะคล้ายคราบน้ำมันเยิ้ม รวมถึงถ้าบิดคันเร่งแล้วมีควันขาวออกมาด้วย แสดงว่าเครื่องหลวมแบบนี้บอกลาได้เลย
อุปกรณ์สึกหรอพร้อมใช้ไม่ต้องเปลี่ยน
ในส่วนของรถมือสองอุปกรณ์ที่สึกหรอ ต้องดูว่ายังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ และผ่านการใช้งานมาแล้ว สัมพันธ์กับระยะที่กำกับบนเรือนวัดความเร็วด้วย โดยแบ่งออกเป็น
1.ยาง ต้องอยู่ในสภาพดี เนื้อนิ่ม ไม่แตกลาย พร้อมดูวันที่ผลิตอย่าให้นานเกินไป
2.โซ่ สเตอ ถ้าซื้อมาแล้วต้องเปลี่ยนใหม่ ราคาชุดละหลักหมื่นบาท คิดว่าคุ้มค่าหรือไม่
3.ผ้าเบรก ดูจากความหนา ถ้าต้องเปลี่ยนใช้ของแท้ตรงรุ่น ราคาหลายพันบาท
4.จานเบรก พิจารณาจากความหนาและพื้นผิว ถ้าใช้ผ้าเบรกแบบอัดใหม่จะทำให้พื้นผิวเงาคล้ายกระจกแบบนี้ไม่ดี ถ้าใช้ผ้าเบรกของแท้ตรงรุ่น พื้นผิวจานเบรกจะออกด้านๆ หรือเป็นลายคลื่นบ้างแต่ไม่มาก เอานิ้วลูบจะสากเล็กน้อย หากเป็นรถมือสองถ้าไม่มีรอยคลื่นที่จานเบรกเลยไม่มีทางเป็นไปได้
อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น
สำหรับอุปกรณ์บางส่วน การใช้ตาดูเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาพิจารณาตัวรถได้ เช่น เรือนวัดความเร็ว เลขระยะที่แสดงการใช้รถเชื่อถือได้เพียงเล็กน้อย เพราะสามารถนำมากรอใหม่ได้ ขณะที่ความเชื่อว่า การขี่ปล่อยมือเพื่อทดสอบศูนย์รถว่ายังดีอยู่และไม่ได้ผ่านการชนหนักมา อันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง หากปล่อยแล้วเกิดอาการวูบชัดเจน แบบนี้ต้องมีปัญหาแน่นอน แต่บางกรณีไม่ได้เป็นรถอุบัติเหตุ อาจจะเกิดจากการประกอบก็ได้
ขณะเดียวกัน รถที่ผ่านการล้มสไลด์หรือล้มแปะ นับเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้น และบางทีความเสียหาย ก็ไม่มีผลอะไรต่อตัวรถ รวมถึงไม่ได้ส่งผลต่อการขับขี่ ยกตัวอย่าง รถแข่งในสนามที่เห็นล้มสไลด์ ทีมงานนำมาซ่อมแล้วก็สามารถกลับไปแข่งต่อแถมวิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 200 กม./ชม. ตัวรถยังนิ่งและวิ่ง เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงได้เหมือนเดิมอีกด้วย
โดยส่วนใหญ่จุดสังเกตรถที่เคยประสบอุบัติเหตุหนักๆ คือ ให้ดูที่แผงคอจะมีสต็อปเปอร์เอาไว้ กันเวลาหักคอเลี้ยวจนสุด ตัวนี้จะสึกหรือหักไปเลย หรือไม่ก็มีรอยบุบเหมือนโดนกระแทกเข้าไป ถ้าสังเกตุดีๆ เวลารถชนหนักแฮนด์จะพับเข้าและกระแทกกับสต็อปเปอร์ ถ้ามีรอยการสัมผัสนิดๆ ก็ปกติ เพราะเกิดจากเวลาล็อคคอ ให้ดูว่ามันไม่ได้หักหรือมีรอยเชื่อมมา ซึ่งตรงนี้เป็นจุดสังเกตุหลักๆ เลย
และอีกจุดที่ต้องดูคือ บางคันชนหนักโช้กหน้าจะงอเข้าไป วิธีแก้ก็ดัดออกมาให้มันตรง แต่มันจะเหลือร่องรอยอยู่ พวกนี้ถ้าคนขายไม่เก็บงาน มองด้วยตาก็เห็นเลย หรือบางคนก็ซ่อนโดยการดึงโช้กขึ้นมาหรือใช้วิธีโหลดหน้า ให้สันนิษฐานก่อนว่าทำเพื่อตั้งใจปกปิดร่องรอยบางอย่าง
การรับประกันและบริการหลังการขาย
หากซื้อกับเจ้าของรถโดยตรงจะมีข้อเสียเรื่องการรับประกัน และไม่รู้ว่าจะนำรถเข้าเซอร์วิสกับร้านใดได้บ้าง แต่ถ้าซื้อกับร้านค้าอย่างน้อยหากเกิดปัญหา ผู้ซื้อสามารถนำรถเข้ามาเคลมประกันได้ สำหรับ เรดบารอน รถใหม่รับประกัน 1 ปี หรือ 20,000 กม. แล้วแต่ระยะใดถึงก่อน ส่วนรถมือสองรับประกัน 3 เดือน ไม่กำจัดระยะทาง ซึ่งข้อนี้ใช้เป็นหลักประกอบการเลือกซื้ออีกทางหนึ่งด้วย
...ทั้งหมดเป็นวิธีการเลือกซื้อบิ๊กไบค์มือสองเบื้องต้น อาจจะค่อนข้างละเอียดอ่อนสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าไม่อยากต้องมานั่งร้องไห้ทีหลัง ควรศึกษาข้อมูลรถก่อนตัดสินใจ เพราะมีผลโดยตรงกับความปลอดภัยและอาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต...
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
|