“ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” ท่าจะเป็นจริงและใช้ได้ดีกับ “มาสด้า ซีเอ็กซ์-5” (Mazda CX-5) เพราะหลังจาก เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ค่าย“ซูม ซูม”ก็รีบจัดทริปทดสอบให้บรรดาสื่อมวลชน ได้ลองขับสัมผัสนั่ง ครบทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล
…เรียกว่าไม่ทันจะข้ามปีก็ได้สัมผัสจัดเต็มกับเอสยูวีที่มาพร้อมเทคโนโลยีสกายแอคทีฟทั้งคัน และจากกระแส ต่างๆเห็นว่า ถึงวันนี้ซีเอ็กซ์-5 ส่งมอบไปกว่า 3,000คันแล้ว ขณะที่บางรุ่นบางสี ลูกค้าต้องรอรถนานถึง 2 เดือน
สำหรับเรื่องราวของเทคโนโลยีสกายแอคทีฟ “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” เคยนำเสนอไปหลายครั้ง ตามโอกาสอำนวย แต่ถ้าจะให้สรุปคร่าวๆอีกครั้งก็คือ แนวคิดในการพัฒนารถให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น แต่ยังคงสมรรถนะการขับขี่อันยอดเยี่ยม ด้วยรถยนต์แบบเดิมๆ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และยังไม่ต้องไป ข้ามไปถึงพวกรถไฮบริด รถไฟฟ้า(EV) ต่างๆนานา
อยู่กับปัจจุบันแล้วทำมันให้ดีที่สุด เพราะมาสด้าตระหนักว่า ประสิทธิภาพของพลังงานที่ได้รับ จากเครื่องยนต์ในปัจจุบันถูกปลดปล่อยออกมาใช้จริงแค่ 30% ดังนั้นต้องหาวิธีที่จะดึงความสูญเสีย 70% กลับคืนมาเป็นพลังงานขับเคลื่อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการออกแบบเครื่องยนต์ เกียร์ ตัวถัง ช่วงล่างใหม่ หวังช่วยเหลือเกื้อหนุนให้ใช้น้ำมันทุกหยดอย่างคุ้มค่า
โดยมาสด้า ซีเอ็กซ์-5 ถือเป็นรถยนต์หนึ่งรุ่นของค่ายที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีสกายแอคทีฟมาเต็มรูปแบบ และแม้จะไม่ได้เป็นรถที่ประกอบในประเทศไทย เพราะมาสด้ายึดมาเลเซียเป็นฐานผลิต (เมืองไทยได้ทำ เกียร์สกายแอคทีฟ) แต่การทำตลาดยังมีให้เลือกถึง 4 รุ่นย่อย ใน 3 ทางเลือกเครื่องยนต์
เริ่มจากรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 2.0 ลิตร แบ่งเป็นสองเกรด 2.0Cราคา 1.2 ล้านบาท กับ 2.0S 1.3 ล้านบาท รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร (2.5S) 1.44 ล้านบาท และรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร (XDL)ราคา 1.67 ล้านบาท
แน่นอนว่าออปชันก็ต่างกันไป โดยรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลจัดมาเต็มที่สุด เพราะจะมีทั้งระบบ i-Stop เครื่องยนต์ดับอัตโนมัติเมื่อรถจอดหยุดนิ่ง (จอดติดไฟแดง เข้าเกียร์ D แล้วเหยียบเบรก) ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (AWD)แบบแปรผันตามสภาพการขับขี่ รวมถึงชุดเครื่องเสียง BOSE พร้อมลำโพง 9 ตัว (รุ่น 2.5S ก็มี)
ส่วนออปชันระดับเทพๆที่มีเหมือนกับรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.0S และ2.5S ก็มีทั้ง ไฟหน้าแบบ ไบ-ซีนอน ระบบปรับไฟสูงต่ำอัตโนมัติ ระบบปรับลำแสงไฟตามองศาการเลี้ยวรถ ระบบทำความสะอาดไฟหน้า รวมถึงระบบกุญแจรีโมท Keyless Entry
ด้านล้ออัลลอยรุ่นดีเซล XDL กับเบนซิน 2.5S จะใช้ขอบ 19 นิ้ว ประกบยางขนาด 225/55R19 ซึ่งในตลาดมีเพียง “เชฟโรเลต แคปติวา ดีเซล” ที่ใช้ล้อขนาดเดียวกันนี้ ส่วนซีเอ็กซ์-5 อีก 2 รุ่นคือ 2.0C กับ 2.0S จะใช้ล้อขอบ 17 นิ้ว ประกบยาง 225/65R17
ขณะเดียวกันออปชันอำนวยความสะดวก-ปลอดภัยที่จัดเป็นมาตรฐาน ผู้เขียนว่ามาสด้าให้มาเยอะ และมีครบตั้งแต่รุ่นล่างสุด 2.0C ทั้งเบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้าพร้อมระบบดันแผ่นหลัง เครื่องเสียงเล่น CD MP3 พร้อมหน้าจอสัมผัสขนาด 5.8 นิ้ว สวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย ระบบบลูทูธ ช่องเชื่อมต่อ USB AUX และแอร์อัตโนมัติ
ตลอดจนระบบเบรก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD ระบบเสริมแรงเบรกBA ระบบควบคุมการทรงตัว DSC ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน HLA รวมถึงถุงลมนิรภัย คู่หน้า ด้านข้าง พร้อมม่านถุงลม รวม 6 ลูก
...ไหนๆก็ว่ากันที่ออปชันแล้ว ผู้เขียนก็พูดถึงภายในห้องโดยสารเลยแล้วกัน ซึ่งการออกแบบรวมๆ กับโทนสีดำ ดูเรียบๆเฉยๆ สไตล์มาสด้า ไม่มีอะไรโดดเด่นเตะตา ส่วนเบาะนั่งคู่หน้าโอบกระชับรับสรีระ อาจจะเหมือน แข็งๆในช่วงแรก แต่นั่งไปนานๆก็สบายไม่ปวดหลัง ส่วนการนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลังไม่อึดอัด ขยับขยาย ได้ดีแต่พนักพิงอาจจะชันไปนิด
สำหรับเบาะนั่งด้านหลังรองรับผู้โดยสารได้ 3 ท่าน และสามารถปรับพับได้แบบ 40:20:40 และเมื่อพับลง ทั้งหมดก็ราบเรียบไปกับพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง พร้อมเพิ่มความจุเป็น 1,390 ลิตร (VDA)
อย่างไรก็ตามถ้าวัดคะแนนของ การนั่งเป็นผู้โดยสารหลัง ทั้งในแง่ความรู้สึกของการเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร และอาการสะเทือนต่างๆ ซีเอ็กซ์-5 คงอยู่ในระดับปานกลาง หรือทำไม่ได้เนียนไปกว่าคู่แข่งอย่าง แคปติวา และ ซีอาร์-วี
...กลับมาในส่วนของสมรรถนะการขับขี่ ผู้เขียนขอเริ่มต้นจากรุ่นท็อป XDL ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล ขนาด 2.2 ลิตรDOHC 4 สูบ 16 วาล์ว ซึ่งมาสด้าเลือกใช้ระบบวาล์วไอเสียแปรผันเพียงด้านเดียว ต่างจากรุ่นเครื่องยนต์เบนซินที่เป็นแปรผันคู่ ไอดี-ไอเสีย ส่วนระบบรีดอากาศเป็นเทอร์โบแบบ 2 ขั้น (2- Stage Turbocharger) ซึ่งจะช่วยรีดแรงบิดในรอบต่ำ และลดการปล่อยไอเสียลง
ส่งผลให้ประสิทธิผลของมาสด้า สกายแอคทีฟ-ดี รุ่นนี้ ให้กำลังสูงสุด 175 แรงม้า ที่ 4,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าดีกว่า แคปติวา ดีเซล ที่ใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร (163 แรงม้า, 360 นิวตัน-เมตร)
ส่วนการขับต้องบอกว่า ซีเอ็กซ์-5 เป็นดีเซลพันธุ์นุ่มครับ แม้ตัวเลขแรงม้า,แรงบิดจะดูน่าสนใจ แต่พอขับจริงๆ ก็ไม่ถึงกับแรงแบบมุทะลุดุดัน หรือพุ่งกระชากมากมาย แต่เป็นเอสยูวีที่ขับขี่ได้นุ่มนวล พลังจัดมาแบบไหล เรียบต่อเนื่อง
...คือไม่อืดหรอกครับ แต่อารมณ์ไม่ถึงกับสปอร์ตจัดจ้าน ผิดกับตัวเบนซิน 2.5 ลิตร ที่ดูจะเหยียบ ได้แรงพุ่งติดเท้ามากกว่า
สำหรับเบนซินขนาด 2.5 ลิตร DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว มาพร้อมระบบฉีดจ่ายน้ำมันโดยตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ (Direct Injection) และระบบวาล์วแปรผันทั้งฝั่งไอดี-ไอเสีย รองรับแก๊สโซฮอล์ E20 ให้กำลังสูงสุด 192 แรงม้า ที่ 5,700 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 256 นิวตัน-เมตร ที่ 3,250 รอบต่อนาทีส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ให้การตอบสนองดีกว่าเพื่อน ซึ่งการพลิ้วไหวที่ดีกว่ารุ่นดีเซล อาจมีผลมาจากน้ำหนักตัวที่เบากว่า129 กิโลกรัม และระบบขับเคลื่อนสองล้อละครับ
ปิดท้ายที่รุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว ใช้ระบบฉีดจ่ายน้ำมันโดยตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ และระบบวาล์วแปรผันทั้งฝั่งไอดี-ไอเสีย เช่นกัน ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที คันนี้เซ็ทอัตราทดเฟืองท้ายไว้จัดสุด ที่ 4.624 การออกตัวแม้ไม่พุ่ง เท่ารุ่นพี่ๆ แต่ก็ไม่ต้วมเตี้ยมเต่าคลานแน่นอน
การขับขี่รวมๆผู้เขียนว่าเป็นเอสยูวีรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตรที่ขับสนุกพอตัว และเพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งตอบสนองเรื่องความประหยัดในเมือง และออกทางไกล ต่างจังหวัด สมรรถนะทะมัดทะแมงดีทีเดียว
ในส่วนช่วงล่างหน้าแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังมัลติลิงค์ เหล็กกันโคลง รองรับได้นุ่มนวลในย่านความเร็วต่ำ แต่ทว่ารุ่นที่ใช้ล้อขอบ 19 นิ้ว อาจจะรับรู้ถึงเสียงและแรงกระแทก มากกว่ารุ่นที่มากับล้อขอบ 17 อยู่นิดๆ
อย่างไรก็ตามหากวัดเสถียรภาพการทรงตัวของทุกรุ่น นับว่าให้ความมั่นใจไม่ต่างกัน การขับความเร็วสูง ภายในห้องโดยสารยังนิ่ง อาการโยกคลอนน้อยมาก จังหวะขึ้นลงคอสะพาน รู้สึกเหมือนร่างกาย ของผู้ขับจะไปพร้อมๆกันกับรถ ขับ(หรือนั่ง)แล้วไม่หวือหวาและไม่มึนหัว
ด้านเบรกเป็นดิสก์ทั้งสี่ล้อ แต่เซ็ทการตอบสนองของแป้นเบรกค่อนข้างนุ่มลึก มาสด้าหวังเรื่องการ ชะลอหยุด ที่นิ่มนวล ซึ่งประเด็นนี้ใช้เวลาปรับตัวสักระยะก็ไม่มีปัญหาในการขับขี่
ปิดท้ายด้วยอัตราบริโภคน้ำมันเฉลี่ย มาสด้าเคลมในรุ่นดีเซล 2.2 ลิตรไว้ 18 กม./ลิตร เบนซิน 2.5 ได้ 15.2 กม./ลิตร และเบนซิน 2.0 จะทำได้ 16.4 กม./ลิตร ส่วนการทดสอบของผู้เขียนกับสภาพการจราจรอันหลากหลาย บ่อยครั้งลองขับแบบเร่งแรง สรุปได้ตัวเลขต่ำกว่าที่มาสด้าเคลมไว้ประมาณ 3-4 กม./ลิตรครับ
รวบรัดตัดความ...เป็นเอสยูวีจัดเต็มเรื่องเทคโนโลยีที่มาสด้าลงทุนพัฒนาใหม่ทั้งคัน เพื่อหวังอัตราบริโภค น้ำมันอันเป็นมิตร พร้อมคง DNA “ซูม ซูม” ขับสนุกเอาไว้ แต่กระนั้นผู้เขียนว่าบุคลิกโดยเฉลี่ย “ซีเอ็กซ์-5” ไม่ถึงกับขับสปอร์ตเหมือนกับรถยนต์รุ่นอื่นๆของค่าย ด้วยคำนึงถึงการใช้งานเป็นรถครอบครัว อเนกประสงค์ จึงให้ความนุ่มสบาย ขับขี่ง่าย ควบคุมคล่องแคล่ว ขณะที่ช่วงล่างเป็นจุดเด่น ยิ่งนั่งหลังพวงมาลัย จะรู้สึกถึงความหนึบแน่นแฝงความนุ่ม ทรงตัวยอดเยี่ยมขับทางไกลสบาย
พร้อมออปชันความปลอดภัยครบครัน ซึ่งในรุ่นล่างของเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร(2.0C) ราคา 1.2 ล้านบาท ให้ความคุ้มค่าสูง
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ [11554 Views]
|