ฮอนด้า แจ๊ซ โฉมใหม่ (All new Honda Jazz) เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเมืองไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ช้ากว่าการทำตลาดในญี่ปุ่นพอสมควร(ใช้ชื่อว่าฟิต เริ่มขายเดือนกันยายนปีที่แล้ว) หรือทิ้งระยะนานกว่าที่คิด แต่ก็ไม่ผิดคาดเสียทีเดียว เนื่องจากสถานการณ์ตลาดคอนข้างซบซึม หรือถ้านับเฉพาะยอดขายรถยนต์นั่ง ตั้งแต่ต้นปีลดลงไปถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ยอดขายฮอนด้าก็ตกตามตลาดละครับ แต่ในส่วนของ แจ๊ซ ใหม่ เห็นว่ามียอดจองเข้ามากว่า 3,000 คัน ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังการเปิดตัว ซึ่งดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่ฮอนด้าพอใจในระดับหนึ่ง
แจ๊ซ ใหม่ เจเนอเรชันที่ 3 ยังอิงพื้นฐานการพัฒนามาจากรุ่นเดิมในหลายๆส่วน แต่เกือบทุกส่วนนั้น ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด
โดยมิติตัวรถมีความกว้างและสูงเท่าเดิม แต่เพิ่มความยาวมากขึ้น 55 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อจึงขยายขึ้นอีก 30 มิลลิเมตร บวกกับการออกแบบถังน้ำมันใหม่ให้แบนลง วางอยู่กลางรถ พร้อมลดความจุลงมา 2 ลิตร เหลือ 40 ลิตร สอดคล้องกับการออกแบบแขนยึดในช่วงล่างด้านหลัง(เทรลลิ่งอาร์ม)ให้สั้นลง ส่งผลให้การออกแบบ และการวางตำแหน่งของเบาะขยับขยายได้มากขึ้น
ที่สุดจึงได้ระยะห่างช่วงขา-ช่วงตัวของผู้โดยสารด้านหลัง กับเบาะหน้าเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการปรับ พับเบาะทำได้อเนกประสงค์ เพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้มากกว่าเดิม
ฮอนด้ายังพยายามลดน้ำหนักรวมของตัวรถลงมา จากโครงสร้างต่างๆ รวมถึงเครื่องยนต์ และเกียร์CVT ยกตัวอย่างการขึ้นรูปประตูแบบใหม่ ช่วยลดน้ำหนักลงมาได้ 3 กิโลกรัม ส่วนเครื่องยนต์บางชิ้นส่วน หันมาใช้วัสดุน้ำหนักเบา พร้อมลดแรงเสียดทานในการทำงานให้ได้มากที่สุด ด้านเกียร์อัตโนมัติอัตราทด แปรผันต่อเนื่องนั้น มีขนาดกะทัดรัดและเบากว่าอัตโนมัติ แบบ 5 สปีดเดิมอยู่แล้ว
น้ำหนักตัวของแจ๊ซ ใหม่ รุ่นเกียร์ CVT อยู่ที่ 1,068-1,088 กิโลกรัม (รุ่นเกียร์ธรรมดา 1,048 กิโลกรัม) ดังนั้นหากเทียบระหว่างตัวท็อปรุ่นเก่าที่น้ำหนัก 1,115 กิโลกรัมแล้ว แจ๊ซ ใหม่จะเบากว่า 27 กิโลกรัมเลยทีเดียว
ด้านเครื่องยนต์ i-VTEC SOHC 4 สูบ 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร (1,497 ซีซี) บล็อกเดิมแต่ปรับปรุงใหม่ (และเป็นคนละบล็อกกับ 1.5 ลิตรในญี่ปุ่น) รองรับน้ำมันแก็สโซฮอล์ E85 ส่วนกำลังลดลงมาจาก 120 แรงม้าเป็น 117 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 146 นิวตัน-เมตรที่ 4,700 รอบต่อนาที
การหันมาคบกับเกียร์ CVT อีกครั้ง(เคยถูกใช้ในแจ๊ซรุ่นแรก) ฮอนด้าย้ำว่า เกียร์ชุดนี้ถูกพัฒนาใหม่ ทั้งสายพานที่มีความทนทาน และน้ำมันแบบพิเศษสำหรับเกียร์CVT เสริมด้วยทอร์คคอนเวอร์เตอร์ที่จะช่วย ให้รถได้แรงบิดดีในรอบต่ำ การออกตัวดีขึ้น สอดคล้องกับอัตราบริโภคน้ำมันที่ประหยัดกว่าเดิม 12%
นั่นเป็นรายละเอียดทางเทคนิคของการเปลี่ยนแปลงสำหรับ ฮอนด้า แจ๊ซ ใหม่ ส่วนการทำตลาดในเมืองไทย แบ่งเป็น 6 รุ่นย่อย ไล่ตั้งแต่ S MT เกียร์ธรรมดาราคา 5.55 แสนบาท ที่เหลือเป็นเกียร์อัตโนมัติ S AT ราคา 5.94 แสนบาท, V ราคา 6.54 แสนบาท, V+ ราคา 6.94 แสนบาท, SV ราคา 7.39 แสนบาท และรุ่น SV+ ราคา 7.54 แสนบาท
ตั้งแต่รุ่น V+ ขึ้นไปจะได้หน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว แสดงผลการขับขี่ของรถ พร้อมรองรับการเชื่อมต่อ โทรศัพท์แบบ ไร้สาย การเชื่อมต่อภาพและเสียงผ่าน HDMI รวมถึงระบบสั่งการด้วยเสียง Siri Eyes Free Mode รองรับการเชื่อมต่อ HondaLink Application ด้านระบบปรับอากาศอัตโนมัติจะเป็นแผงควบคุมแบบ สัมผัสดูหรูหราน่าใช้ ขณะที่ปุ่มกดสตาร์ท-ดับเครื่องยนต์ และออปชันอย่างกล้องมองภาพขณะถอยหลัง แบบปรับมุมมองได้ 3 ระดับ มีให้ตั้งแต่รุ่น V ขึ้นไป
ด้านความปลอดภัยครั้งนี้ฮอนด้าจัดเต็มตั้งแต่รุ่นล่าง โดยคุณจะได้ทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ระบบเบรกป้องกัน ล้อล็อก (ABS) พร้อมระบบกระจายแรงเบรก (EBD) ระบบควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA) ระบบช่วย การออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA) และสัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (ESS) ย้ำว่า เหล่านี้มาเป็นมาตรฐานครบทุกรุ่น ส่วนตัวท็อป SV+ จะเพิ่มถุงลมด้านข้าง และม่านถุงลมสองฝั่ง รวมเป็น 6 จุด
การออกแบบภายในห้องโดยสารดูดีมีสกุล วัสดุการประกอบดูดีมีระดับ ทั้งแผงแดชบอร์ดหน้า แผงประตูข้าง ช่องแอร์ตัดแต้มด้วยวัสดุแบบแมททาลิก โดดเด่นด้วยจอและแผงควบคุมแอร์แบบสัมผัส พวงมาลัย มีปุ่มควบคุมมัลติฟังกัน พร้อมครูสคอนโทรล และแพดเดิลชิฟท์เปลี่ยนเกียร์ด้านหลัง(ซ้ายลดเกียร์-ขวาเพิ่มเกียร์)
สำหรับมุมมองด้านหน้า คล้ายๆจะถูกบีบแคบด้วยเสาเอ-พิลลาร์ที่ลาดเอียงเข้ามามาก แต่จริงๆแล้ว ไม่ส่งผลให้ทัศนวิสัยการขับขี่แย่จนน่าเกลียด ส่วนเบาะแบบผ้านั่งสบาย รองก้นรับสรีระได้พอตัว การปรับระดับเบาะเป็นแบบมือโยก ทั้งสูง-ต่ำ และเลื่อนหน้า-ถอยหลัง
ในส่วนของสมรรถนะการขับขี่ต้องบอกว่า แจ๊ซ ใหม่ เป็นรถที่คล่องแคล่วขับสนุก เสถียรภาพการทรงตัว ดีกว่ารุ่นเก่า แต่ติดตรงการเก็บเสียงภายในห้องโดยสารยังดังไปนิด โดยเฉพาะเสียงลมปะทะ และเสียงสะท้านจากพื้นถนน เช่นเดียวกับน้ำหนักของพวงมาลัยที่ค่อนข้างเบา หากขับความเร็วสูง
สำหรับบุคลิกเกียร์ CVT ยังมีลากรอบสูงๆ และไม่ยอมชิฟท์อัพหากคนขับไม่ผ่อนคันเร่งเหมือนเดิม แต่ถ้าเรียนรู้จับทางกันได้แล้วจะพบว่าระบบส่งกำลังชุดนี้ทำงานกระชับแม่นยำ จังหวะเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวล ขณะที่การออกตัวมีพลังพลุ่งพล่าน รอบดีด 3,000-4,000 ให้อารมณ์จี๊ดจ๊าดกระชากใจ
ส่วนช่วงล่างหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง หลังเป็นคานทอร์ชันบีม การทรงตัวเหมือน จะหนึบแน่นมากขึ้น การเหวี่ยงตัวของรถน้อยลงจากเดิม ขณะเดียวกันหากเทียบกับ ซับคอมแพกต์ซีดาน ที่พัฒนาบนพื้นฐานเดียวกันอย่างซิตี้ ผู้เขียนว่าช่วงล่างและการทรงตัวของ แจ๊ซ ออกแนวแข็ง ให้ความสปอร์ตกว่า
ประเด็นนี้วิศวกรฮอนด้ายอมรับว่า เซ็ทช่วงล่างให้ต่างกัน อย่างน้อยๆก็ค่าK ของสปริง และการคืนตัวของโช้คอัพ ซึ่งส่วนตัวของผู้เขียนชอบเสถียรภาพรวมๆ และความหนึบแข็งของฮอนด้า แจ๊ซมากกว่าครับ
ด้านระบบเบรกแม้ในรุ่นเดิมจะใช้เป็นดิสก์ทั้งสี่ล้อ พอเป็นแจ๊ซ ใหม่ กลับเปลี่ยนเป็นหน้าดิสก์หลังดรัม ประเด็นนี้ติดใจแต่ไม่เอาความ เพราะการตอบสนองของแป้นเบรกกับระยะชะลอหยุดยังแม่นยำ และค่อนข้างนุ่มนวล
ปิดท้ายด้วยอัตราบริโภคน้ำมันที่ฮอนด้าเคลมเฉลี่ยไว้ 16.7 กม./ลิตร ส่วนการขับขี่จริงบนระยะทาง 140 กิโลเมตร ใช้ความเร็ว 100-120 กม./ชม.สลับรถติดนิดหน่อย สรุปได้ตัวเลขที่หน้าจอแสดงผลประมาณ 13.5 กม./ลิตร (การทดสอบใช้น้ำมันแก็สโซฮอล์ 91)
รวบรัดตัดความ
ขับสนุก คล่องแคล่ว เครื่องยนต์ ผสานการทำงานกับเกียร์ได้เนียนๆ อัตราเร่งดี แรงปลายสบายเท้า ช่วงล่างหนึบแน่นมากขึ้น ภายใน(ตัวท็อป) หรูหรายกระดับ หรืออาจจะเหนือกว่า ซับคอมแพกต์ทุกรุ่น ที่ทำตลาดในปัจจุบัน พร้อมความอเนกประสงค์ พับเบาะได้หลากหลาย ใครนิยมจักรยานขนขึ้นไปขี่ไกลๆได้สบาย(ถ้าเฟรมใหญ่ ล้อใหญ่ อาจจะต้องถอดล้อก่อน) ถ้าวัดกับคู่แข่ง ระดับซับคอมแพกต์ ตัวถังแฮทช์แบ็ก เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร
ชั่วโมงนี้ แจ๊ซ ใหม่ น่าใช้ที่สุด
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ [13816 Views]
|