ตอนนี้ราคาน้ำมันก็มีวี่แววว่าจะขึ้นต่อไปเรื่อยๆ คนกรุงอย่างเราๆก็ยังคงเดินทางไปไหนมาไหนโดยอาศัย รถยนต์" เป็นหลัก ดังนั้นไม่ว่าทางไหนที่จะสามารถประหยัดได้ก็น่าที่จะลองดู
การขับรถยนต์เชื่อว่าคงขับเป็นกันทั้งนั้น แต่การขับให้ประหยัดและลดการสึกหรอ เพื่อให้รถยนต์ใช้งานได้นานๆ และไม่กระทบกระทั่งกับเงินในกระเป๋าของคุณ "นายพล" มีข้อแนะนำมาฝาก
1.การเติมน้ำมัน เป็นหลักวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ เพราะการขยายตัวของมวลสารที่แปรผันตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ถ้าอากาศร้อนก็จะทำให้น้ำมันเกิดการขยายตัว การเติมน้ำมันจึงควรเติมเวลาที่อากาศเย็น เวลาที่ดีที่สุดคืออยู่ในช่วง 00.00-06.00 น. รองมาคือช่วง 22.00-00.00 น. และช่วง 06.00-09.00 น.
สรุปคือตั้งแต่ 20.00 ถึง 09.00 น. เป็นช่วงเวลาที่เติมน้ำมันแล้วจะได้ปริมาณมากกว่าช่วง 09.00-22.00 น. เพราะน้ำมันจะยังคงรูปแบบอยู่หรือ ขยายตัวเพียงเล็กน้อย จะประหยัดกว่าช่วง 09.00-22.00 น. อยู่ 2-5 เปอร์เซ็นต์ เช่น ช่วง 09.00-22.00 น. เติมเต็มถัง 40 ลิตร แต่ถ้าเติมช่วง 00.00-06.00 น. เต็มถังจะประมาณ 37.5-38.5 ลิตร และถ้าเติมช่วง 22.00-00.00 น. หรือ 06.00-09.00 น. เต็มถังก็แค่ 38-39 ลิตร ลองคำนวณดูราคาน้ำมันว่าจะประหยัดได้กี่บาทกี่เปอร์เซ็นต์
คนส่วนมากมักจะเติมน้ำมันหลังเลิกงานก่อนเข้าบ้านช่วง17.00-20.00น. จะพบว่าตอนเช้าขีดระดับน้ำมันจะตกลงต่ำกว่าตอนมาจอด ถ้าเติมตอน 06.00 น. แบบไม่เต็มถัง ขับไปทำงาน ตอนเที่ยงจะออกไปทานข้าว จะพบว่าขีดระดับจะสูงขึ้นกว่าตอนที่มาจอด
เวลาเติมน้ำมัน เด็กปั๊มมักจะขี้เกียจทอนเศษเงิน จึงมักกดยัดเยียดจนล้นหรือจนพอใจ เจ้าของรถก็ไม่สนใจ อย่าลืมว่าถังน้ำมันจะมีรูหายใจหรือ รูระบายแรงดันในถัง การเติมน้ำมันมากเกินไปก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะพอมันขยายตัวน้ำมันก็จะถูกปล่อยทิ้งออกไปตอนรถวิ่งหรือกระแทก จึงควรเติมแค่หัวจ่ายตัดหรือเลยไปไม่เกิน 5 บาทก็ยังไม่เสียหาย เพราะจุดนี้ถือว่าสูญเสียหาย เพราะเติมน้ำมันมาปล่อยทิ้ง เจ้าของปั๊มได้กำไรจากยอดขายที่สูงขึ้น แต่เราขาดทุนเพราะเติมน้ำมันมาทิ้ง
2.การสตาร์ทรถและอุ่นเครื่อง ต้องอุ่นเครื่องเพราะว่าเครื่องยนต์ที่ดีและสึกหรอน้อยที่สุด ประหยัดที่สุด จะทำงานอยู่ในช่วง 90-95 องศาเซลเซียส
แต่ด้วยความเร่งรีบของสังคมปัจจุบัน ทำให้คนส่วนใหญ่มักจะขึ้นรถสตาร์ตเครื่องติดแล้วก็ขับออกไปเลย ขณะที่เครื่องเย็นอยู่ การหล่อลื่นยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ต้องใช้กำลังฉุดลากมากกว่าปกติ นอกจากจะเปลืองน้ำมันแล้วยังสึกหรอมากด้วย แม้ใครจะเถียงว่าเครื่องยนต์รุ่นใหม่ไม่ต้องอุ่นเครื่องก็ตาม แต่เชื่อถือซักนิดก่อนเปลี่ยนเกียร์ออกตัวดีกว่าแน่นอน และไม่เสียเวลาอะไรมากด้วย
แต่บางคนก็ใจเย็นเกินไป ติดเครื่องทิ้งไว้นาน 4-5 นาทีกว่าจะออกรถ อันนี้ก็เกินความจำเป็นไป สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยใช่เหตุ แถมบางคนสร้างความรบกวนรำคาญ และที่สำคัญสร้างมลพิษให้คนอื่นโดยไร้เหตุผลสิ้นดี
วิธีอุ่นเครื่องที่เหมาะคือปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดก่อนสตาร์ตเครื่องเพื่อลดโหลดของเครื่องยนต์ให้น้อยที่สุดไม่ให้เกิดแรงฉุดกระชากมากเกินไป
อุ่นเครื่องไว้สักระยะ ลองคำนวณดูกะให้บรรดาน้ำมันหล่อลื่นได้ไหลเวียนไปครบถ้วนก่อนแล้วค่อยสตาร์ต จากนั้นจึงค่อยเปิด เครื่องใช้ไฟฟ้าตามต้องการ
3.การออกตัว ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหลายคนประเภทโรคจิตนิดๆ ถ้าไม่ได้ยินเสียงล้อเสียดสีกับผิวถนนตอนออกตัวแล้วนอนไม่หลับ
การออกตัวเป็นหัวใจสำคัญของการประหยัดและลดการสึกหรอเพราะเกียร์1 คือเกียร์กินน้ำมันมากเป็นอันดับสองรองจากเกียร์ถอยหลัง เพราะต้องใช้แรงฉุดอย่างมหาศาลเพื่อลากตัวถังน้ำหนักเป็นตันจากหยุดนิ่งให้เคลื่อนตัว การออกตัวแรงๆ นอกจากจะเปลืองเชื้อเพลิงแล้ว ยังสึกหรอมาด้วย ทั้งยางและเครื่องยนต์
การออกตัวที่ดีควรทำอย่างนิ่มนวลที่สุด เกียร์ออโต้ก็ควรค่อยๆ ปล่อยเบรกและกดคันเร่งเบาๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความเร็ว ส่วนเกียร์ธรรมดาก็ค่อยๆ ปล่อยคลัตช์แล้วกดคันเร่งเลี้ยงรอบเครื่องไว้ที่ 1000-1200 รอบ ทำได้ดังนี้การออกตัวจะนิ่มนวล ประหยัด และสึกหรอต่ำ
ไม่ควรออกตัวด้วยเกียร์ 2 แม้ให้อัตราเร่งสูงกว่าก็จริง แต่การจ่ายน้ำมันก็มากไม่ต่างจากเกียร์ 1 เท่าไหร่ แต่ต้องแลกมาด้วย ความสึกหรอของเครื่องยนต์มหาศาล เครื่องจะหมดกำลังอัดเร็วกว่าปกติมาก จะยิ่งเปลืองน้ำมันแถมมีควันเพิ่มขึ้น ไม่นานก็ต้องซ่อมบำรุง ครั้งใหญ่ ที่สำคัญจะเร็วกว่าพวกใช้ตามปกติระดับแสนกิโลเมตร ถือว่าเป็นความสูญเสียโดยใช่เหตุอีกเช่นกัน
4.การขับขี่ หลังจากออกตัวมาแล้วก็ต้องเร่งเครื่อง เกียร์ออโตคือกดคันเร่งลงอย่างนิ่มนวล ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ และควรใช้โอเวอร์ไดรฟ์ หรือ O/D ในความเร็วสูง จะทำให้รอบต่ำลงมา ช่วยประหยัดน้ำมัน ส่วนปุ่ม ETC นั้นถ้าไม่ได้แข่งกับใครก็ไม่ควรจะใช้บ่อยนัก เพราะคือการลากเกียร์ จะทำให้เกิดการสึกหรอมากขึ้น เปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น แถมยังส่งผลต่ออายุงานของเกียร์ด้วย
สำหรับเกียร์ธรรมดา การเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นควรจะทำให้เร็วที่สุดและไปถึงเกียร์สูงสุดเร็วที่สุดเช่นกัน
5.ความเร็วปลายหรือความเร็วสูงสุดในการเดินทาง ถ้าขับระยะทางไกลๆ และต้องการใช้ความเร็วสูงแต่ประหยัดน้ำมันและการสึกหรอต่ำ อาจใช้อาศัยกฎธรรมชาติ เช่น แรงเสียดทานและแรงโน้มถ่วงมาช่วย โดยเฉพาะรถคันใหญ่ น้ำหนักมาก จะมีจุดหนึ่งที่หน้ายางสัมผัสถนน เต็มหน้าพอดีและตั้งฉาก จุดนั้นจะเหมือนว่าน้ำหนักตัวของรถน้อย คือจุดก่อนรถจะลอยตัว เป็นศัพท์ชาวบ้าน เป็นจุดสุดท้ายที่รถ ยังคงเสถียรภาพการเกาะถนนอยู่ รถแต่ละรุ่นจะได้ความเร็วไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถและตัวสปอยด์เลอร์ที่ติดมา
จุดนี้หาได้โดยค่อยๆ กดคันเร่งเพิ่มความเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง จะพบว่าความเร็วรถจะเพิ่มขึ้นเองอย่างรวดเร็ว จนต้องถอนคันเร่งเช่นโดยทั่วไป
นอกจากนี้ การเดินทางไกลควรหยุดพักรถทุก 2 ชม. หรือ 200 กม. หรือขึ้นกับสภาพร่างกายของผู้ขับขี่ และการหยุดแต่ละครั้งไม่ควรต่ำกว่า 15 นาที ควรจอดในที่ร่ม บางคนชอบเปิดฝากระโปรงหน้าไว้เพื่อให้น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ หรือน้ำมันเบรกได้คายความร้อน จะได้กลับมามีคุณสมบัติที่ดีอีกครั้ง แต่สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่อาจไม่จำเป็นเพราะถูกออกแบบระบบระบายอากาศมาเป็นอย่างดีแล้ว
6.การเบรก ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเบรกรุนแรง ทางที่ดีควรใช้การลดความเร็วและการลดเกียร์ลงมาหรือใช้ความเร็วให้เหมาะสม เพราะการเบรกรุนแรงนอกจากการสึกหรอของระบบเบรกแล้ว ยังมีน้ำมันเชื้อเพลิงค้างในห้องเผาไหม้จำนวนมาก เพราะปล่อยคันเร่ง ทันทีทันใดอาจจะซึมผ่านไปผสมกับน้ำมันเครื่อง ส่งผลให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ และส่งผลต่อการสึกหรอของเครื่องยนต์ตามมา
7.การถอยรถ ในรถเกียร์อัตโนมัติคงไม่มีปัญหาเท่าไหร่กับการถอยหลัง เพราะยังไงก็ต้องหยุดรถให้สนิทอยู่แล้วจึงโยกเข้าเกียร์ถอยหลังได้ แต่ในรถเกียร์ธรรมดา สิ่งที่ควรทำคือทำแบบเกียร์อัตโนมัติ เหยียบเบรกให้รถหยุดสนิทก่อน แต่ถึงแม้รถจะหยุดสนิทแล้ว ก็ควรทิ้งระยะเวลาไว้เล็กน้อยประมาณ 3-5 วินาทีก่อนเข้าเกียร์ เพื่อให้เวลากับเพลาหรือเฟืองที่ยังมีแรงเฉื่อยอยู่หยุดหมุนเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเมื่อต้องหมุนไปอีกทางในทางกลับกันก็จะเกิดการสึกหรออย่างมาก และยังเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น ต้องใช้แรงฉุดมากขึ้น หรือบางทีก็มีเสียงไม่พึงประสงค์ออกมากันเลยทีเดียว
โดยทั่วไปแล้วเกียร์ถอยหลังจะมีอัตราทดและแรงมากที่สุดกว่าทุกเกียร์มีไม่กี่รุ่นทำเกียร์1 สูงกว่าเกียร์ถอยหลัง ดังนั้นจึงเป็นเกียร์ที่ใช้น้ำมัน มากที่สุด จึงควรนิ่มนวลในการเร่งและปล่อยคลัตช์มากที่สุด
8.การจอดรถ ก่อนถึงที่หมายซัก 100-200 เมตร ควรปิด AC หรือคอมเพรสเซอร์ของแอร์เหลือไว้เฉพาะพัดลมเพราะยังคงมีความเย็นในระบบอยู่ การกระทำดังกล่าวนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำมันแล้ว พัดลมยังช่วยเป่าไล่ความชื้นออกจากตู้แอร์ทำให้ไม่มีกลิ่นอับชื้น ความชื้นในตู้แอร์หมดไป การผุกร่อนของตู้แอร์และระบบก็ลดลง ที่สำคัญไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค
เมื่อถึงที่หมายและรถจอดสนิทแล้วก็ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ฟังเสียงว่าพัดลมไฟฟ้าทำงานอยู่หรือเปล่า ควรปล่อยให้พัดลมทำงาน จนหยุดก่อนจึงดับเครื่องยนต์ ถ้าไม่จอดขวางใครอย่าลืมดึงเบรกมือขึ้นด้วย เพราะหลายคนชอบเร่งเครื่องขึ้นไปรอบสูงๆ ก่อนดับเครื่อง โดยเข้าใจว่าจะทำให้เครื่องติดง่ายในครั้งต่อไป อันนี้อันตรายต่อเครื่องยนต์มาก เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงจะตกค้างและปนไปอยู่กับน้ำมันเครื่อง ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาวะการหล่อลื่น สึกหรอมากขึ้น แถมน้ำมันค้างก็เหมือนการทิ้งไปเปล่าๆ
9.ลมยาง ควรจะตรวจเช็กลมยางอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ปริมาณลมยางก็ตามที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ ส่วนใหญ่จะมีในคู่มือ หรือบางรุ่นติดไว้ขอบประตูรถ
ถ้าลมยางอ่อนเกินไปก็จะทำให้รถซดน้ำมันมากขึ้นและขอบยางก็จะสึกมากขึ้นอายุยางก็ลดลงแต่ถ้าแข็งเกินไป ประหยัดน้ำมันก็จริง แต่ยางก็จะสึกตรงร่องกลางๆ มาก เสื่อมเร็วเช่นกัน ซ้ำร้ายยังส่งผลกระทบไปถึงลูกหมาก ลูกปืนจะพังเร็วกว่าปกติ
10.การเก็บสัมภาระไว้ในรถ ทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีนั่นแหละ ไม่ต้องเถียงกันว่าใครหนักกว่า เพราะเห็นมาเยอะ ไม่ควรเก็บของไว้ในรถมากเกินไป ควรเก็บที่จำเป็นจริง แต่ส่วนใหญ่มักอ้างว่าจำเป็นทั้งนั้น ของที่ใส่ในรถเป็นการเพิ่มน้ำหนักรถ ทำให้กินน้ำมันโดยใช่เหตุ
นอกจากนี้ การเลือกเส้นทางในการเดินทางก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ย้ำว่าจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงเส้นทางที่รถติดมากๆ หรือเลือกใช้เส้นทางที่ใกล้ที่สุด
ทั้งหมดนี้เป็นข้อแนะนำที่ไม่ใช่บังคับให้ใครต้องมาปฏิบัติแต่เชื่อว่าถ้าฝึกเรื่อยๆจนเป็นนิสัย แล้วค่อยๆ เพิ่มสิ่งที่ยังไม่ได้ทำเข้าไป สุดท้ายคุณจะเป็นคนขับรถที่ดี ประหยัดน้ำมัน และรถยนต์คู่ใจก็ทนทานใช้งานได้คุ้มค่า
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
|