รถปิกอัพไทยที่ก้าวไกลทั้งเทคโนโลยีและเต็มไปด้วยการแข่งขัน มีให้เลือกหลากรุ่นหลายยี่ห้อ และมีสารพัด รายละเอียดทางเทคนิค ย่อมทำให้เกิดความสับสนในการเลือกซื้อขึ้นได้ เลือกอย่างไรให้คุ้มค่า ให้ตรงจุดประสงค์ที่แท้จริง พัฒนาการทางเทคโนโลยี
รถปิกอัพไทย แม้จะมีพื้นฐานมาจากการเป็นรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และเพื่อการขนส่ง แต่ด้วยความนิยมและลักษณะการใช้งานของคนไทย ส่งผลให้แนวทางการพัฒนารถปิกอัพทุกยี่ห้อพลิกผัน จนปัจจุบันนี้กลายเป็นยานยนต์อเนกประสงค์อย่างเต็มตัวไปแล้ว และมีชื่อเรียก ชวนงงว่า PPV-PICK-UPASSENGER VEHICLE เป็นทั้งรถปิกอัพและรถนั่งในคันเดียวกัน นั่งก็ได้ บรรทุกก็ดี แรงเร็วไม่แพ้รถเก๋ง และที่สำคัญคือ มีการปรับราคาขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้ถูกกว่ารถเก๋ง คอมแพกต์ซีดาน นิดเดียวเท่านั้น เมื่อมีราคาแพง และแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีอย่างดุเดือด ก็ย่อมเกิดความสับสนในการเลือกซื้อได้ง่าย
เลือกซื้อรถปิกอัพรุ่นใด ให้คุ้มค่าเงินที่สุด ?
คำถามที่พบได้บ่อยๆ เพราะใครๆ ก็อยากจ่ายเงินอย่างคุ้มค่า แต่ถามโดยไม่ได้ฉุกคิดว่า
รถทุกประเภททุกรุ่นย่อมมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน ไม่มีดีโดยรวมๆ หรือดีทุกด้านเหนือกว่ารุ่นอื่นทั้งหมด ตั้งหลักเลือก
อย่าเพิ่งรีบคิดปิดทางตั้งแต่เริ่มต้นว่า ก็มีเงิน แต่ไม่มีความรู้เรื่องรถยนต์ แล้วจะไปรู้รายละเอียดได้อย่างไรว่า
รถปิกอัพรุ่นใด มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร ? จริงที่คนส่วนใหญ่ซึ่งกำลังจะตัดสินใจซื้อรถ ไม่มีความรู้ลึกล้ำเพียงพอว่ารถรุ่นใด
มีอะไรเด่นมีอะไรด้อย จึงต้องมาหาข้อมูลจากคนอื่น แต่ลึกๆ ก็มีความต้องการในรายละเอียดอยู่
ตั้งหลักใหม่ให้ถามตัวเองว่า เน้นคุณสมบัติด้านใดเป็นพิเศษ และด้านใดรองลงมา เช่น เน้นประหยัด ชอบห้องโดยสารกว้าง อยากได้แรงๆ เน้นศูนย์บริการดี อะไหล่ถูก หรือต้องบรรทุกหนักได้ดี ฯลฯ ระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีรถปิกอัพรุ่นใด เด่นครบไปทุกคุณสมบัติ เช่น แรง แต่ประหยัด ห้องโดยสารกว้าง นุ่มนวล ทนทาน ศูนย์บริการเพียบ อะไหล่ราคาถูก
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสรุปความต้องการที่แท้จริงของตนเองให้ได้ก่อน ยกเว้นจะซื้อมาใช้งานทั่วไป ไม่ได้เน้นอะไร ขอให้ไม่เสียกลางทางพาไปถึงจุดหมายได้ก็พอ คุณสมบัติด้านใดๆ ขอกลางๆ ก็พอ อย่างนั้นซื้อรุ่นที่ได้รับความนิยมในตลาดกันมากๆ
ก็พอได้ ไม่ต้องเสียเวลาเฟ้นหา
การเลือกซื้อรถปิกอัพรุ่นที่ได้รับความนิยมในตลาดระดับหัวแถว มิได้หมายความว่าจะได้รุ่นที่มีคุณสมบัติต่างๆ
เด่นไปทั้งหมด เพราะยอดจำหน่ายรถในไทย ไม่ได้มีตัวแปรอยู่ที่คุณภาพเท่านั้น หลายคนซื้อตามกระแสสังคม หรือซื้อตามความรู้สึก
คิดไปเอง เช่น ดีไม่ดีหรือตรงกับความต้องการหรือไม่? ไม่ทราบ แต่เห็นใช้กันเกลื่อนถนน หรือใครๆ ในหมู่บ้านก็ซื้อใช้กัน ก็เลยซื้อตาม
เพราะเดาไปเองว่า รถรุ่นนั้นต้องมีอะไรดีแน่ๆ ถึงได้รับความนิยม ซึ่งคนที่ซื้อเหล่านั้น
อาจจะเน้นแค่ความประหยัดน้ำมันฯ หรือไม่เน้นอะไรเลย แต่จริงๆ แล้วตัวเราเน้นสมรรถนะและความแรง
ความประหยัดไม่ค่อยสน เพราะขับวันละไม่กี่สิบกิโลเมตร อย่างนี้ถ้าไปเลือกตามกระแสสังคม (ตามตัวอย่าง) ก็คงผิดหวัง
ในเมื่อมีจุดเด่น ก็ต้องมีจุดด้อย เมื่อเฟ้นหารถปิกอัพรุ่นที่มีคุณสมบัติเด่นตรงใจได้แล้ว ก็ต้องทำใจ กับจุดด้อยอื่นๆ ให้ได้
ไม่ใช่มีจุดเด่นแล้วไม่ยอมให้มีจุดด้อยเลย หลังจากสรุปความต้องการของตนเอง แม้ไม่ง่ายที่จะหาข้อมูลจริงว่า
รถปิกอัพรุ่นใดจะมีคุณสมบัติตรง ตามต้องการ แต่ก็ไม่ถือว่ายากนัก ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร เช่น ถามคนรู้จักที่เคยใช้หลายคนเท่าที่จะหาได้
ถามในสารพัดสื่อสารมวลชน ที่มีหลายแขนง นิตยสาร รายการวิทยุ เวบไซต์ ฯลฯ ควรถามให้มากคนมากแหล่งที่สุดเท่าที่สะดวก
เพราะไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า ข้อมูลนั้นจะไม่ ผิดเพี้ยนเลย บางคนตอบโดยบริสุทธิ์ใจแต่ไม่รู้จริง ตอบตามความรู้สึกของตนเอง
บางคนเอนเอียงเพราะใจชอบอยู่แล้ว
ตัวถังแบบใด
ไม่มีแค็บ, 2 ประตูมีแค็บ หรือ 4 ประตูตัวกระบะสั้น เลือกตามลักษณะการใช้งานที่แท้จริง หรือเลือกตามการขายต่อ
ถ้าเลือกตามการใช้งานจริง
ตัวถังแบบไม่มีแค็บ ราคาถูก ตัวกระบะยาว ขนของได้สะใจ เหมาะสำหรับการใช้ขนส่งสินค้าอย่างจริงจัง เพราะตัวกระบะยาว
ไม่ต้องมีส่วนแค็บด้านหลังเบาะหน้าให้เกะกะและหนัก แต่การขายต่อจะยาก และราคาตกกว่าแบบ 2 ประตูมีแค็บหรือ 4 ประตู
ตัวถัง 2 ประตู แบบมีแค็บ ดูเหมือนจะอเนกประสงค์และได้รับความนิยมที่สุด เพราะพอจะนั่งเบียดกัน ได้หลังเบาะหน้า
รวมแล้วพอไปได้ 5 คน ตัวกระบะด้านหลังมีความยาวมากพอจะขนของได้เหลือเฟือ การขายต่อสะดวกและได้ราคาดี
เพราะความอเนกประสงค์นั่นเอง
ตัวถัง 4 ประตูตัวกระบะสั้น อเนกประสงค์ แต่เน้นการใช้งานในห้องโดยสารที่ดีมากกว่าการบรรทุกหนัก
แม้นั่งบนเบาะหลังได้ไม่สบายเท่ารถเก๋ง แต่ก็สะดวกกว่าแบบ 2 ประตูมีแค็บมาก ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ห้องโดยสารมี 4 ประตู
แต่ตัวกระบะหลังสั้นมาก บรรทุกของได้น้อยที่สุดในกลุ่มทางเลือก การขายต่อได้ราคาดี แต่หาคนซื้อไม่ง่ายเท่ากับตัวถังแบบ 2 ประตูมีแค็บ
ซึ่งมีราคาถูกกว่าและใช้งานได้อเนกประสงค์ทั้ง 2 ด้านพอๆ กัน นั่งก็พอได้ บรรทุกก็ได้มาก
ทำใจกับจุดด้อยพื้นฐาน
นอกจากจุดด้อยของรถปิกอัพแต่ละยี่ห้อที่แตกต่างกันซึ่งต้องทำใจแล้ว ยังต้องทราบไว้ด้วยว่า รถปิกอัพทุกรุ่นทุกยี่ห้อ มีจุดด้อยขั้นพื้นฐานเหมือนๆ กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่าเรียกร้องหรือเฟ้นหาเกินตัว รถปิกอัพเกิดมาบนพื้นฐานของรถเพื่อการขนส่ง แม้จะมีการพัฒนานำสารพัดเทคโนโลยี และความสะดวกสบายเพิ่มเข้าไป เพื่อเอาใจผู้บริโภคที่นำรถปิกอัพไปใช้งานแบบรถเก๋ง ไม่ได้บรรทุกจริงจัง แต่ไม่ว่าจะพัฒนาไปมากแค่ไหน ก็ยังได้แค่ขยับเข้าไปใกล้ๆ รถเก๋งเท่านั้น ไม่สามารถเท่าเทียมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะด้านความนุ่มนวล การทรงตัว และการบังคับควบคุม เพราะพื้นฐานของช่วงล่าง ที่ต้องออกแบบไว้เผื่อการบรรทุกหนักนั่นเอง ดังนั้น ถ้าขับรถปิกอัพแล้วก็ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมกระด้างไม่นิ่มไม่เกาะเท่ารถเก๋งเป๊ะๆ
เทคโนโลยีสูง น่ากลัวไหม?
ด้วยกระแสการแข่งขันทางการตลาดและการควบคุมมลพิษของทางราชการ ทำให้รถปิกอัพไทยมีเทคโนโลยี ใหม่ๆ มาใช้อย่างต่อเนื่อง รถเก๋งมีอะไรปิกอัพก็ไม่น้อยหน้า เอบีเอส แอร์แบ็ก เทอร์โบ หัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ คอมมอนเรล พกกันมาเพียบ หลายคนจึงเกิดความหวาดระแวงว่า อะไรที่ไฮเทค ถ้าเสียแล้วจะซ่อมยากหรือซ่อมแพง อ้าวถ้าอย่างนั้นปี 2002 นี้ก็ต้องดูทีวีขาวดำ ดูวีดีโอ ไม่ต้องดูทีวีสี หรือวีดีโอ-ซีดี มนุษยชาติล้วนมีพัฒนาการอยู่เสมอ โดยเฉพาะสินค้าที่พัฒนาขึ้นมาทำตลาดในเชิงพาณิชย์ มีการแข่งขันกัน ถ้าไฮเทค แต่เสียง่าย ซ่อมแพง ก็คงโดนคู่แข่งตีตาย
ในกรณีของเทคโนโลยียานยนต์ อย่างเครื่องยนต์เบนซิน เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เครื่องยนต์หัวฉีด แบบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่งเริ่มแพร่หลายในไทย ทั้งผู้ซื้อและช่างล้วนหวาดกลัวว่าจะจุกจิกหรือต้องซ่อมแพง แต่พอวันเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่า ถ้าใครจะซื้อรถมือสองอายุ 10-15 ปี ที่มีทั้งรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์หัวฉีดหรือคาร์บิวเรเตอร์ให้เลือก คราวนี้กลับหาซื้อรุ่นหัวฉีดกัน หรือช่างซ่อมรถในปัจจุบัน กลับเมินหน้าหนีเมื่อเจอเครื่องยนต์ แบบคาร์บิวเรเตอร์รวนเข้ามาซ่อม
กรณีของรถปิกอัพก็เช่นเดียวกัน หลายเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่แต่ก่อนคนไทยกลัว กลับกลายเป็นเรื่องปกติและเป็นที่ต้องการ แต่ก่อนไม่มีเทอร์โบ พอเริ่มมีก็กลัวพังง่าย แต่ปัจจุบันนี้ ถ้าไม่มีกลับไม่ชอบ เพราะกลัวไม่แรง หรือเอบีเอส แอร์แบ็ก ก็เรียกร้องกันว่าควรมีให้ อุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีอันทันสมัย แม้ทราบกันดีว่า ถ้าเสียก็ต้องเสียเงินซ่อมแพง แต่ก็ควรยอมรับกันได้ เพราะแลกมาได้กับประสิทธิภาพ และความทนทาน ดีกว่าเน้นซ่อมถูก แต่ประสิทธิภาพต่ำ ต้องทนใช้อยู่ตลอด ตราบใดที่โลกยังหมุนไป ย่อมมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ อย่างรถปิกอัพไทย ไม่น่าเกิน 2 ปีข้างหน้า รุ่นสูงสุดของแต่ละยี่ห้อ จะใช้หัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมมอนเรล อัดอากาศด้วยเทอร์ โบ และมีกำลังแถวๆ 150 แรงม้าทุกยี่ห้อ
มลพิษ เรื่องใกล้ตัวที่ถูกเมิน
การเลือกซื้อรถปิกอัพ คนส่วนใหญ่มักสนใจคุณสมบัติของตัวรถที่สัมผัสได้ เช่น แรงไหม เร็วไหม กินน้ำมันเท่าไร เกาะไหม นุ่มแค่ไหน ? จ่ายเงินตั้งหลายแสนบาท ก็ต้องขอความคุ้มค่าที่ตรงใจและได้ใช้จริง แทบไม่มีใครสนใจ ในการตัดสินใจซื้อเลยว่า รถรุ่นนี้ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับใด ผ่านแค่ตามมาตรฐานที่ราชการกำหนด หรือผ่านในระดับที่สะอาดกว่ากำหนด ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไม่สนใจ เพราะคนส่วนใหญ่ในชาติใดๆ ก็เป็นเช่นนั้น ราชการจึงมีหน้าที่ตั้งกฎข้อบังคับออกมา เพื่อไม่ให้อากาศของลูกหลานของเราในอนาคต มีมลพิษปะปนอยู่มากเกินไป
หากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ลองหาโอกาสไปยืนริมถนนกลางเมืองที่มีการจราจรติดขัด มีตึกบังอยู่รายรอบ ลมไม่ค่อยหมุนเวียน แล้วลองนึกเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า ความสะอาดของอากาศที่ผ่านจมูกเข้าไป แตกต่างกันแค่ไหน หากจะนำระดับของมาตรฐานไอเสีย ไปเป็นตัวแปรหนึ่งในการตัดสินใจ ก็นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะอากาศไม่ได้เป็นของคนรุ่นเรา และไม่ใช่เป็นมรดกของลูกหลานที่เราจะทำลายยังไงก็ได้ แต่ ณ วันนี้เป็นการขอยืมอากาศของลูกหลานมาใช้ต่างหาก ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ลึกๆ ให้ปวดหัวว่ามาตรฐานไอเสียระดับใด ต้องมีก๊าซพิษแต่ละตัว เท่าไรต่อเท่าไร ดูง่ายๆ ก็พอว่า ผ่านมาตรฐานไอเสีย ยูโร สเต็ปเท่าไร เพราะไทยอ้างอิงตามยุโรป ตัวเลขของสเต็ปยิ่งมาก แสดงว่า เป็นมาตรฐานระดับใหม่ และไอเสียต้องสะอาดกว่าตัวเลขระดับน้อยๆ
ปิกอัพไทยกลายเป็นรถอเนกประสงค์นั่งก็ได้บรรทุกก็ได้ แต่ราคาก็แพงขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงระดับ 5-7 แสนบาทเข้าไปแล้ว ความคุ้มค่าจึงอยู่ที่ความรอบคอบและการศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ
จำไว้เลยว่า ไม่มีรถปิกอัพยี่ห้อใดดีที่สุด แต่จะมีดีและเหมาะสมกับแต่ละคนแตกต่างกันออกไป
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
|